เบิ๊ดกะโหลก 1 ดอก ฐานซ้อนท้ายโดยไม่สวมหมวกกันน็อก! ใช้ไม้พายไล่ทุบ ชักปืนขู่สมทบ ฐานหนีการจับกุมหลังเล่นการพนัน! ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ นี่คือพฤติกรรมของผู้ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”
เข้าข่าย “พยายามฆ่า”!?!
คลิปร้อนสะท้อนจิตสำนึกที่หดหายของชายในชุดสีกากีถูกแชร์ให้ว่อนเน็ต ผู้คนมากมายคลิกเข้ามาดูด้วยความฮือฮา แทบไม่เชื่อสายตาว่านี่คือวิธีการจับกุมของผู้คุ้มครองประชาชน
“ไม่ใส่หมวกต้องโดนตบ เข้าใจตรงกันนะ” คือชื่อคลิปที่กลายเป็นมาประเด็นฮอต เพราะถ่ายเหตุการณ์ที่ตำรวจจราจรนายหนึ่งพยายามโบกรถให้มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งจอดฐานคนซ้อนไม่สวมหมวกกันน็อก แต่รถซิ่ง 2 ล้อกลับไม่จอด เจ้าหน้าที่จึงมอบโทษให้ทันทีโดยการตบหัวผู้ซ้อนท้ายจนขะมำ เสียงสะท้อนจากกรณีนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือ สนับสนุนการลงมือจัดการเด็กแว้นอย่างทันท่วงทีของเจ้าหน้าที่ กับอีกฝั่ง วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตำรวจ เพราะนอกจากจะถือว่าทำร้ายร่างกายแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย
Post by เรารักด่านตรวจ.
ส่วนอีกฟากหนึ่งของการจับกุมเกิดขึ้นที่พิษณุโลก เผยคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับนักพนันชนไก่ด้วยวิธีสุดโหด! หลังจากนักพนันหนีลงน้ำ ภาพเผยให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่พายเรือตามไป เมื่อเข้าใกล้ผู้หลบหนีก็ง้างไม้พายขึ้นแล้วทุบลงไปอย่างแรงหลายดอก เท่านั้นยังไม่พอ ตามลงน้ำไปไล่ล่าด้วยการชักปืนจ่อหัวเพื่อข่มขู่! ใครก็ตามที่ได้ดูคลิปนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ”
ไม่ว่าความคิดเห็นจะสนับสนุนผู้กระทำผิดหรือผู้จับกุม แต่สุดท้าย กฎหมายคือสิ่งที่สามารถให้คำตอบได้ดีที่สุด ธนาธร ทนานนท์ ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyer Association) ขอวิเคราะห์กรณีการจับกุมสุดโหดทั้ง 2 เอาไว้ให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย
“ในกรณีที่มีมอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายโดยไม่ใส่หมวกกันน็อก ถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามปกติแล้ว ตำรวจต้องแจ้งเขาว่าทำความผิดอะไรก่อน อาจจะโบกรถให้จอดและตักเตือน แต่การลงไม้ลงมือกับประชาชนเลยเนี่ย มันทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องมานั่งแยกแยะดีๆ ครับว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรรายนั้นที่ไปตบหัวคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ในคลิป เป็นการทำตามหน้าที่หรือทำตามอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว เพราะถ้าทำไปโดยไม่เกี่ยวกับคดีเลย ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาวินัยในตัวเอง
การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย มันเป็นคนละประเด็นกับเรื่องกระทำความผิดฐานไม่สวมหมวกกันน็อกนะครับ เพราะฉะนั้น ประชาชนที่ถูกกระทำสามารถเข้าไปร้องเรียนทางวินัยหรือแจ้งความฐานถูกเจ้าพนักงานทำร้ายร่างกายได้ ส่วนที่วิจารณ์กันในเน็ตว่า “เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ” นั้น กรณีนี้ผมว่าเขายังไม่ได้บอกเหตุแก่ผู้กระทำผิดเลยด้วยซ้ำว่าเขาทำความผิดอะไร มันอาจจะยิ่งกว่าการกระทำเกินกว่าเหตุด้วยครับ เพราะเขาไม่มีสิทธิจะเข้ามาทำร้ายร่างกายเลยด้วยซ้ำไป
ส่วนในกรณีของนักพนัน ถ้าตำรวจเห็นว่าผู้พนันกระทำความผิด เป็นความผิดซึ่งหน้าแล้วเข้าไปจับเลย หรือถ้าเขาหนีลงน้ำแล้วตำรวจไปตามจับโดยใช้วิธีปกติ มันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ครับ แต่ถึงขนาดที่ใช้ไม้พายตีหรือใช้ปืนขึ้นมาขู่ อันนี้เข้าข่าย “การกระทำการเกินกว่าเหตุ” แล้ว เพราะตัวนักพนันเขามีอะไรล่ะครับ เขามีอาวุธมั้ย แล้วดูเหมือนเขาจะยังไม่ได้ต่อสู้อะไรเลยด้วย เขาแค่หนีลงน้ำ
วิธีที่ถูกต้องคือตำรวจสามารถไล่ไปตามจับได้ แต่การใช้ปืนขู่มันเกินกว่าเหตุแล้วครับ และจะยิ่งหนักถ้าใช้ปืนขู่และเล็งด้วย เพราะถ้าเล็งด้วยมันจะเข้าข่าย “พยายามฆ่า” ได้เหมือนกัน!”
ถามว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 กรณีนี้ อันไหนมีความผิดหนักกว่ากัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายถึงกับตอบไม่ถูกเพราะร้ายแรงพอๆ กันทั้งคู่ “เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนทั้งคู่ครับ มันหนักคนละประเด็น เพราะจู่ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจะเดินเข้าไปทำร้ายประชาชนมันก็ร้ายแรงนะ และจู่ๆ เจ้าพนักงานจะใช้ปืนขึ้นมาขู่ประชาชนมันก็ร้ายแรงพอๆ กัน”
อย่าปล่อยให้ “เจ้าหน้าที่” แบบนี้ลอยนวล!
บางคนอาจเลือกที่จะ “เย้ยหยัน” ผู้ถูกจับกุมพร้อมแสดงอาการสมน้ำหน้าว่า “สมควรแล้ว” ที่ถูกเจ้าหน้าที่กระทำรุนแรงแบบนั้น แต่นั่นก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งขัดแย้งต่อหลักกฎหมายและความถูกต้องโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญ ไม่ว่าใครก็ตามที่ตกเป็นเหยื่อการจับกุมด้วยความรุนแรงเช่นนี้เมื่อไหร่ บอกไว้เลยว่าอย่าเอาแต่หงอ ก้มหน้ารับหมัด-เข่า-ศอกจากเจ้าหน้าที่ เพราะถึงแม้จะเป็นผู้กระทำความผิดจริง แต่ก็ไม่มีสิทธิที่ใครจะมาลงไม้ลงมือเป็นอันขาด!
“กรณีมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อกแล้วโดนตบหัว เขาสามารถจอดรถยอมลงมาจ่ายค่าปรับ และประชาชนก็มีสิทธิที่จะถามชื่อเจ้าพนักงานอยู่แล้วครับเพื่อเอาไปดำเนินการในฐานะกระทำไม่เหมาะสม หรือจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อก็ได้ครับ ขอแค่รู้วัน-เวลา-สถานที่ที่เกิดเหตุ ก็สามารถเข้าไปแจ้งความเพื่อสืบสวนหาตัวเจ้าพนักงานได้แล้ว
ยิ่งถ้ามีการถ่ายคลิปเอาไว้เป็นหลักฐาน ยิ่งทำให้สามารถเอาผิดได้ง่ายมากขึ้นด้วยครับ อย่างกรณีนักพนัน ยังไงซะ โทษของการเล่นพนันก็เบากว่าการที่เจ้าพนักงานชักปืนขึ้นมาขู่อยู่แล้วครับ” ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังคงยืนหยัดให้ข้อมูลข้างประชาชนอย่างหนักแน่น ทั้งยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ภาพลบตำรวจกับการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา เป็นประเด็น Classic ที่มีมานานและยังคงดำเนินต่อไป
“โดยเฉพาะในภาคใต้จะมีเยอะมาก กรณีที่ตำรวจจับคนมุสลิมซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำผิดไปทรมาน 15-20 วันเพื่อให้รับสารภาพ เหมือนกับทางตำรวจเหมือนตั้งเชื่อเอาไว้ก่อนแล้วว่าคนนี้ทำผิดก็เลยเอาตัวไปทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ทำให้มีผลสำรวจออกมาว่ามีผู้ต้องสงสัยในภาคใต้ถูกจับขึ้นศาลและยกฟ้องไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะค้นพบทีหลังว่าไม่มีความผิด”
ทางที่ดี ถ้าอยากให้เกิดการจับกุมที่ยุติธรรมและถูกวิธี ตำรวจต้องเข้าไปจับกุมโดยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นหลัก คือต้องเข้าไปจับโดยละม่อม หากวิเคราะห์จากหลักการแล้ว การจับกุมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนที่เรียกว่า “Crime Control” คือการควบคุมอาชญากรรมไม่ให้มันเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ตำรวจจะยึดจุดนี้เป็นหลัก จึงพยายามทำยังไงก็ได้ให้เกิดการจับได้เร็วที่สุดและมากที่สุด จนทำให้ละเลยหลักการอีกส่วนหนึ่งไปที่เรียกว่า “Due Process” ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่ชอบโดยกฎหมาย ทำให้ลืมนึกถึงเรื่องการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไป ทั้งที่ความจริง วิธีการจับกุมที่ถูกต้องและเหมาะสมต้องสมดุลระหว่าง “หลักการการควบคุมอาชญากรรม” กับ “หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน” ให้ไปด้วยกันให้ได้
ตามหลักกระบวนการยุติธรรมแล้ว จะยึดวิถีในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ 3 ประการคือ สะดวก, รวดเร็ว และเป็นธรรม แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยึดหลักแค่เรื่องสะดวกและรวดเร็ว จนอาจจะละเลยหลักเรื่องความเป็นธรรมไป เพราะลืมคำนึงถึงเหตุผลของผู้กระทำผิด
“อย่างแรกก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติทั้งของตำรวจและคนในสังคมโดยรวมก่อนครับ อย่าไปตั้งธงว่าคนนี้เป็นผู้กระทำผิดแล้วเขาต้องผิดแน่ๆ เพราะถ้ายึดตามหลักรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งของศาลตัดสินว่าผิดจริง เขาก็ยังถือว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” อยู่ ส่วนประชาชนทั่วๆ ไปที่อาจจะตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราก็ควรแสดงตัวเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง อย่าให้เรื่องเงียบไป เช่น การแชร์คลิปก็น่าจะช่วยได้ แต่ต้องระวังนะครับ เพราะถ้าเป็นคลิปเท็จก็อาจจะถูกฟ้องกลับเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้”
ถ้าคุณตกเป็นเหยื่อของเจ้าพนักงานไร้คุณธรรม สามารถแจ้งไปได้ที่สายด่วนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “1377” หรืออาจจะไปร้องเรียนที่โรงพัก ให้ดำเนินการทางวินัยกับนายตำรวจนายนั้น ไม่ก็ติดต่อไปที่สภาทนายความ แต่ในส่วนนั้นจะเน้นเรื่องการฟ้องร้องมากกว่า
ส่วนในกรณีคลิปโหดที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดนี้ พลังแห่งการแชร์น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีที่จะทำให้ภาครัฐลุกขึ้นมารับผิดชอบอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“ถึงแม้จะไม่มีคนฟ้องก็ตาม อย่างน้อยๆ ถ้าเกิดมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเนื้อตัว-ร่างกายของประชาชน ก็ควรมีการดำเนินการเรื่องเงินชดเชยและจัดการทางวินัยกับนายตำรวจรายนั้น อาจจะให้พักราชการหรือลดขั้น ก็ต้องเป็นขั้นตอนที่ต้องมีการดำเนินการทางวินัย ถ้าเกิดคลิปเหล่านี้ถูกแชร์ออกไป กลายเป็นกระแสสังคม มีคนวิจารณ์กันมากๆ เนี่ย ผมคิดว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไรสักอย่าง”
ส่วนคลิปเหล่านี้จะถูกแชร์ออกไปมากขนาดไหน และจะส่งผลกระทบให้หน่วยงานออกมาแสดงความเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องประชาชนอย่างไรได้บ้าง คำตอบอาจอยู่ในมือคุณ...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
>