ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เสนอ ท่าเรือแหลมฉบัง ทบทวนแผนฉุกเฉิน และแผนตอบโต้กรณีสารเคมีรั่วไหล
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงกรณีการเกิดเหตุการณ์สารเคมี Butyl Acrylate ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการผสมสี และเคลือบสีรั่วไหลจาก ISO tank บริเวณท่าเรือ B3 ของท่าเทียบเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทำให้ประชาชน และนักเรียนบริเวณใกล้เคียงต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ด้วยอาการคลื่นใส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ แสบตา แสบจมูกเกือบ 200 คน ว่า เมื่อนำมาวิเคราะห์สาเหตุแล้ว น่าจะมาจากความผิดพลาดในหลายประการ ดังนี้
1.ความบกพร่องในการประสานงาน และการสื่อสารกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่อาศัยโดยรอบ เมื่อเกิดเหตุสารเคมีอันตรายร้ายแรงรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือ ตั้งแต่ตอนเช้ามืดของวันที่ 17 กรกฎาคม การท่าเรือ ได้พยายามแก้ไขให้หยุดการรั่วไหล แต่ไม่สำเร็จ โดยไม่ได้แจ้งข้อมูลข่าวสาร และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ต่อเมื่อประชาชนที่อาศัยโดยรอบได้รับผลกระทบแล้ว จึงได้แจ้งให้ทราบถึงประเภทสารเคมีที่รั่วไหล แต่ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว
2.เจ้าหน้าที่ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนผิดพลาด ท่าเรือแหลมฉบัง และเทศบาลนครแหลมฉบัง ใช้วิธีสอบถามประชาชนในชุมชนว่าได้รับกลิ่นหรือไม่ และแจกผ้าปิดปากปิดจมูก ทั้งที่ต้องพิจารณาทิศทาง และความเร็วลม เนื่องจากสารเคมีที่รั่วไหลมีพิษอย่างเฉียบพลัน ได้รับเข้าไปในร่างกายเพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น เมื่อลมพัดผ่านไปทิศทางใด ต้องอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้ลมไปยังอื่นที่ห่างไกล
3.เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีที่รั่วไหลอย่างแท้จริง จึงประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนผิดพลาด ไม่มีการสั่งการให้อพยพประชาชน ทั้งนี้ จากข้อมูล Safety Data sheet ของOSHA (Occupational Safety and Health Administration) ระบุไว้ชัดเจนว่า สาร Butyl Acrylate เป็นของเหลวและไอระเหยไวไฟ ผลกระทบอย่างเฉียบพลัน คือ การระคายเคืองต่อดวงตาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง ทำอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ผลกระทบเรื้อรังในระยะยาวอาจทำให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวหนัง เกิดอาการคัน และเป็นลมพิษได้
มาตรการเมื่อเกิดการหก หรือรั่วไหล ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่เท่านั้น ในกรณีนี้พื้นที่ได้รับผลกระทบในระยะทาง 3 กิโลเมตร คือ ชุมชนบ้านนาเก่า ชุมชนบ้านแหลมทอง โรงเรียนเทศบาล 1, 2 และบางส่วนของชุมชนบ้านแหลมฉบัง แต่ไม่มีการสั่งการให้มีการเคลื่อนย้ายประชาชน หรือเตือนให้ประชาชนอพยพ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเกือบ 200 คน
4.ไม่มีแผนฉุกเฉินป้องกันตนเองของชุมชนโดยรอบ กรณีเกิดการรั่วไหลของสารเคมี ที่ผ่านมาการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีสารเคมีรั่วไหล ส่วนใหญ่จะฝึกซ้อมเกี่ยวกับการตอบโต้เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น การดับเพลิง การเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน การให้ความช่วยเหลือกรณีได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย การส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เป็นต้น
แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ แผนฉุกเฉินในการป้องกันตนเองของชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ การซ้อมแผนฉุกเฉินต้องให้ประชาชนโดยรอบมีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมให้ความเห็นต่อการวางแผน และที่สำคัญ คือ ชุมชนต้องมีมาตรการในการป้องกันตนเอง หรือลดอันตรายจากการที่ต้องสัมผัสสารเคมี เมื่อมีข้อมูลเพียงพอ ผู้นำชุมชนต้องสามารถตัดสินใจให้ประชาชนในชุมชนอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ โดยไม่ต้องรอการสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวเหมือนที่ผ่านมา
5.ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องเร่งทบทวน Procedure ในการขนย้ายถังบรรจุสารเคมีให้ปลอดภัย รวม ทั้งทบทวนระบบการตอบโต้กรณีเกิดการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายอย่างเป็นระบบ และรวดเร็ว เนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบขาดความเชื่อมั่น และเชื่อใจในการทำงานของการท่าเรือ และเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น จึงควรจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคประชาชนในพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ รับรู้ระบบการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ
ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และไว้วางใจต่อการทำงานของท่าเรือต่อไป อย่างไรก็ตาม คิดว่าเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อเรียกความเชื่อมั่น และความศรัทธาของประชาชนกลับมา