ตาก - ขบวนการค้า LPG เถื่อนชายแดนแม่สอด-เมียวดี ยังอาละวาดไม่หยุด ล่าสุด ฉก.ร.4 ซุ่มจับได้คาฝั่งเมย พบทยอยขนกันครั้งละ 20 ถังวันละ 2-3 รอบ แถมถ้าปลอด จนท.เพิ่มเป็นอย่างต่ำ 5-6 รอบ ด้านจังหวัดฯ เรียกประชุมหาทางแก้รอบแรกไร้ข้อสรุป นัดถกอีกครั้ง 24 ก.ค.นี้
วันนี้ (16 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากริมน้ำเมย ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า พ.อ.เทอดศักดิ์ งามสนอง ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด ที่ดูแลรับผิดชอบ 5 อำเภอชายแดนไทย-พม่า ได้นำกำลังทหาร ฉก.ร.4 และทหารพราน เข้าปิดล้อมด้านหลังโรงงานผลิตเสื้อริมน้ำเมยแห่งหนึ่ง ที่บ้านท่าอาจ หมู่ 3 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด หลังสืบทราบว่าจะมีพ่อค้าทยอยนำก๊าซหุงต้มใส่รถบรรทุกดินขนาด 4 ล้อเล็กเพื่อส่งข้ามไปขายฝั่งเมียวดี ประเทศพม่า ต่อมาพบเห็นรถยนต์ต้องสงสัยขับมาจอด จากนั้นมีชายพม่ากำลังจะมาขนถังก๊าซลงจึงแสดงตนทำการตรวจยึดได้ถังก๊าซรวมยี่ห้อกว่า 20 ถัง ยึดรถยนต์ 1 คัน และจับผู้ต้องหาชาวพม่า 2 คน ส่วนคนขับรถยนต์หลบหนีไปได้
จากการสอบสวนทราบว่า ก๊าซหุงต้มทั้งหมดกำลังจะนำข้ามแม่น้ำเมยไปขายในเมียวดี โดยจะทำการทยอยขนมาส่งครั้งละไม่เกิน 20 ถัง มาวันละ 2-3 รอบ บางวันปลอดเจ้าหน้าที่ก็จะเพิ่มความถี่เป็น 5-6 รอบ
เจ้าหน้าที่ทหารได้บันทึกจับกุม นำถังก๊าซหุงตุ้มของกลางส่งด่านศุลกากรฯ และนำผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด ต่อไป
ขณะเดียวกัน นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เรียกประชุมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาพลังงาน ทั้งภาครัฐ-เอกชน รวมถึงผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการ (ก๊าซ) แก๊ส โรงบรรจุแก๊ส และร้านจำหน่ายแก๊สปิโตรเลียมเหลว เพื่อจัดระเบียบการส่งออกให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลังรัฐฯห้ามผู้ประกอบการไม่มีตราส่งออกตั้งแต่ปี 2551
นายสมชัยฐ์กล่าวว่า ระยะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถตรวจจับการลักลอบส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG ไปยังประเทศพม่าเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และเศรษฐกิจ รวมไปถึงผู้บริโภค จังหวัดฯ จึงต้องจัดระเบียบการส่งออกให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้พลังงานจังหวัดฯ ไปดูระเบียบและข้อกฎหมายทั้งหมดว่ามีช่องทางไหนและจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อนำรายได้เข้าประเทศต่อไป
ด้านนายพงษ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า ก่อนปี 2551 สามารถส่งออกก๊าซหุงต้มได้ และมียอดการส่งออกประมาณ 4 แสนกิโลกรัม แต่หลังจากปี 2551 ประเทศมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนก๊าซ และมีนโยบายจากภาครัฐฯห้ามส่งออก ยกเว้นได้รับอนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงาน และให้ส่งออกทางด่านผ่านแดนถาวร คือ สะพานมิตรภาพไทย-พม่าเพียงที่เดียวเท่านั้น ผู้ที่จะส่งออกก๊าซ LPG จะต้องเป็นเจ้าของตราเครื่องหมายการค้า เช่น ปตท., เอสโซ่ ฯลฯ ส่วนผู้ประกอบการที่เคยส่งออกก่อนปี 2551 ไม่สามารถส่งออกได้อีกต่อไป
“นี่คือปัญหา ทำให้เกิดการลักลอบค้าก๊าซ LPG มาตลอด แต่ถ้าจะมีการส่งออกได้อย่างถูกต้อง ก็ต้องให้ในระดับนโยบายสั่งการลงมาเท่านั้น”
รายงานข่าวแจ้งว่า การหารือในการประชุมครั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุป จังหวัดตากได้ให้ทุกฝ่ายหาข้อมูลก่อนจะมีการหารือกันในวันที่ 24 ก.ค. 57 เพื่อหาทางออกของปัญหาการลักลอบค้าก๊าซหุงตุ้มข้ามแดนอีกครั้ง