หนองคาย - วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ลงนามกับบริษัทเอกชน หาความร่วมมือผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นใต้น้ำโขง เผยน้ำไหลระยะทางกว่า 4,500 กิโลเมตร มีความแรงเหมาะผลิตกระแสไฟฟ้า
วันนี้ (9 ก.ค.) ที่อาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย นายอโณทัย ธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดแสดงผลงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานคลื่นใต้น้ำโขง พร้อมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ ระหว่าง ว่าที่ ร้อยเอก ไพทูรย์ สร้อยสน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย กับมิสเตอร์โคลิน เจ แชมเบอร์ส ผู้บริหารของบริษัทแอดวานซ์ มารีน อีเนอร์จี้ จำกัด
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันในระยะแรก วางแผนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมที่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย แต่เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม จึงได้พัฒนาโครงการมาเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกังหันใต้น้ำโขง โดยได้นำอุปกรณ์การทดลองสร้างห้องปฏิบัติการ และดำเนินงานโครงการของบริษัท บริเวณท่าน้ำและแพจอดเรือริมแม่น้ำโขง สถานีตำรวจน้ำ 5 กองกำกับการ 11 กองบังคับการตำรวจน้ำ ศรีเชียงใหม่
ผลจากการดำเนินงานพบว่า กังหันน้ำสร้างพลังงานไฟฟ้าจากการไหลของกระแสน้ำผ่านใบพัด สร้างแรงดันแก่ใบพัดทำให้ใบพัดหมุน ยิ่งกระแสน้ำแรงเท่าไหร่ แรงหมุนของใบพัดจะยิ่งแรงขึ้นเท่านั้น การหมุนของใบพัดใต้น้ำทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากกังหันน้ำที่อยู่ในน้ำเชื่อมโยงกับสายเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งแม่น้ำโขงที่มีความยาวกว่า 4,350 กิโลเมตร มีกระแสการไหลของน้ำที่ค่อนข้างเร็ว และแม่น้ำโขงยังถูกระบุว่าเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศที่กระแสน้ำไหลผ่าน
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการยังเป็นการทดลอง ซึ่งทางวิทยาลัยได้ร่วมกับบริษัท ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้ได้แหล่งพลังงานทางเลือกของประเทศต่อไป