xs
xsm
sm
md
lg

สรุปเหตุน้ำท่วมนาข้าว 3 ตำบล ไม่เกี่ยวสนามบินร้อยเอ็ด แนะชาวบ้านร่วมขุดลอกให้ไหลสะดวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร้อยเอ็ด - ปภ.นำชาวบ้าน 3 ตำบลบุกพบนายท่าอากาศยานร้อยเอ็ด กรณีพนังขวางทางน้ำทำน้ำท่วมนาเสียหายหลายร้อยไร่ แต่ผลตรวจสอบกลับพบต้นเหตุไม่ได้เกิดจากสนามบิน แต่ทางระบายน้ำลงสู่ลำน้ำชีเป็นปัญหา สั่งประชุมชาวบ้านเตรียมลงแขกขุดลอก

วันนี้ (2 ก.ค.) นายพิทยา กุดหอม ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยแกนนำชาวบ้าน ต.พลับพลา และอีก 2 ตำบลที่เข้าร่วมร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อน จากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำนาเสียหายเนื่องจากคันกั้นน้ำของสนามบินร้อยเอ็ดกั้นทางน้ำทำให้น้ำท่วมนาข้าวเสียหายหลายครั้งแล้วในปีนี้ เข้าพบนายยุทธนา อินทรวิจิตร นายท่าอากาศยานร้อยเอ็ด เพื่อยื่นข้อเรียกร้องขอตรวจสอบและให้แก้ปัญหา

นอกจากชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจาก ต.พลับพลา 4 หมู่บ้าน และนาข้าวเสียหายกว่า 4,000 ไร่แล้ว ยังมีนายประสิทธิ์ จตุเทน นายก อบต.หนองพอก อ.เชียงขวัญ และชาวบ้านจาก ต.พระธาตุ พื้นที่ติดต่อกัน ร่วมตรวจสอบอีก 2 หมู่บ้าน โดยอ้างว่านาข้าวก็ได้รับความเสียหาย 800 ไร่

ขณะที่นายก อบต.หนองพอกระบุว่า นาข้าวในตำบลหนองพอก 9 หมู่บ้าน พื้นที่นา 10,580 ไร่ก็ได้รับความเสียจากน้ำท่วมเพราะพนังกั้นน้ำของสนามบินขวางทางระบายน้ำ โดยเรียกร้องให้สนามบินขยายท่อระบายน้ำที่อุดตันให้กว้างขึ้น และขอให้ ปภ.ร้อยเอ็ด อนุมัติงบประมาณขุดลอกเปิดทางน้ำในเขตท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ให้น้ำระบายได้คล่องขึ้น เพื่อให้สามารถทำนาดำในปีนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากนำคณะตรวจสอบสภาพพื้นที่แล้วปรากฏว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากสนามบิน เนื่องจากระดับน้ำยังต่ำกว่าแนวคันกั้นน้ำของสนามบิน และหากขุดท่อหรือตัดคันดินเพิ่มขึ้น แทนที่จะระบายน้ำออกจากนาชาวบ้านโดยรอบสนามบินจะกลับกลายเป็นน้ำในสระน้ำกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ล้นทะลักออกไปท่วมนาเสียหายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุน้ำท่วมนาข้าวรอบสนามบินเกิดจากจากคลองระบายน้ำหนองหงส์ ซึ่งระบายน้ำลงลำรางลงสู่ลำน้ำชีมีสภาพตื้นเขิน น้ำไหลไม่สะดวก มีวัชพืชขวางทางน้ำ และสภาพลำรางแคบจนระบายน้ำไม่ทัน หากใช้งบประมาณของทางราชการขุดลอกขยายลำรางไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการบุกรุกกรรมสิทธิ์ที่ดิน และไม่สามารถนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปได้เนื่องจากอยู่ในช่วงหน้าฝน

เบื้องต้นได้แนะแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยให้ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชุมชาวบ้านในหมู่บ้าน ให้สละแรงงานร่วมกันลงแขกขุดลอกขยายลำรางเพื่อให้น้ำไหลสะดวกขึ้น โดย ปภ.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนเครื่องมือหรือปัจจัยอื่นๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น