ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ว่าฯชลบุรี ประชุมจัดทำทะเบียนลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ให้เจ้าพนักงานองค์กรปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วม ช่วยนายจ้างต่างด้าวไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ
วันนี้(25 มิ.ย.)ที่ห้องประชุมแก้วเจ้าจอม องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในการประชุมเร่งด่วนตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่องการจัดทำทะเบียนลูกจ้างแรงงานต่างด้าว เพื่อให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว ได้จัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวลูกับทางเมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล รองรับบัญชีรายชื่อไว้เป็นหลักฐานการจดทะเบียน
สืบเนื่องจากตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 67/2557 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2557 เรื่องมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว และประกาศฉบับที่ 18/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ระยะที่ 1 เป็นการชั่วคราว เพื่อให้การดำเนินการตามประกาศดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจัดการประชุมดังกล่าว เพื่อให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จัดทำรายชื่อแรงงานต่างด้าว
โดยกรณีบุคคลธรรมดา ให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด แนบเอกสารฉบับจริง กรณีนิติบุคคลให้นำสำเนาหนังสือนับรองนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้ที่มีอำนาจลงนาม 1 ชุด แนบเอกสารจริง มายื่นต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี เมืองพัทยา เทศบาลทุกแห่ง หรือองค์กรบริหารส่วนตำบลทุกแห่งภายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานหางานจังหวัดชลบุรี หรือโทร. 038-398-057 , 086-339-8620 ในวันและเวลาราชการ
นายคมสัน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการให้เจ้าพนักงานองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่เป็นข้าราชการประจำ ได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือสถานประกอบการที่หลากหลายสาขา อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว ประมง ผู้ประกอบการค้าขาย ที่ขาดแคลนแรงงานไทย เนื่องจากคนไทยเลือกงาน ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งจากที่ผ่านมามีกฎระเบียบที่ซับซ้อน ทำให้นายจ้างต้องเสียเงินให้กับการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก
สำหรับชลบุรีเป็นเมืองเศรษฐกิจ ทำรายได้เข้าคลังปีละประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท ต้องใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก แม้แรงงานกัมพูชา จะกลับประเทศไป แต่ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะมีแรงงานพม่าและลาวอยู่จำนวนมาก พอเพียงกับความต้องการ และเพื่อเป็นการให้เกิดความสะดวกรวดเร็วกับแรงงานต่างด้าว จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นรับผิดชอบ โดยให้เก็บเงินเป็นรายหัวเพื่อจะได้สะดวกรวดเร็ว และจะได้ดูแลแรงงานอย่างทั่วถึง ไม่ให้มีการกดขี่ พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย