นครพนม - ประมงจังหวัดตรวจพื้นที่เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำสงคราม หลังตายยกกระชังกว่า 200 กระชัง ระบุแม่น้ำโขงหนุนสูง ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ ไม่เกี่ยวสารเคมีปนเปื้อน พร้อมหาทางช่วยเหลือ ขณะที่เกษตรกรเร่งนำปลาขึ้นมาทำปลาร้า
จากกรณีปลากระชังใน 3 หมู่บ้านของ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม น็อกน้ำตายนับแสนตัว หลังจากน้ำในลำน้ำสงครามเน่าเสีย มูลค่าความเสียหายกว่า 12 ล้านบาท ผู้เลี้ยงปลาบางรายแทบสิ้นเนื้อประดาตัว และไม่ได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ เนื่องจากพื้นที่เลี้ยงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกรมประมง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (17 มิ.ย.) นายประจักษ์ เจริญรัตน์ ประมงจังหวัดนครพนม กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 15 มิ.ย. เกษตรกรได้โทรศัพท์แจ้งว่ามีปลาตายที่ต้นน้ำบ้านหาดกวนจำนวนมาก หลังเกิดเหตุจึงส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ พบค่าออกซิเจนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน คือ 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.ตรวจวัดได้ 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ล่าสุดวันที่ 17 มิ.ย.วัดได้ในกระชัง 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่นอกกระชังวัดได้ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร
ค่ามาตรฐานคุณภาพของน้ำที่เหมาะสมที่สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้ ต้องมีค่าออกซิเจนในน้ำที่ 6 มิลลิกรัมต่อลิตร และสาเหตุที่น้ำเน่าเสียอาจเกิดจากระดับน้ำสงครามต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพราะปกติน้ำสงครามจะต้องสูงกว่าน้ำโขง ไหลลงบริเวณแม่น้ำสองสี บ้านตาลปากน้ำ หมู่ 2 และหมู่ 11 แต่ขณะที่ฝนตกต่อเนื่องนานกว่าสัปดาห์ ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงหนุนน้ำสงครามทะลักเข้าไปถึงบ้านหาดกวน ต.ไชยบุรี ไกลกว่า 10 กิโลเมตร
ทั้งนี้ นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้เคยกำชับเกษตรกรในช่วงปลายฤดูร้อนเข้าสู่หน้าฝนแล้วว่าให้หมั่นสังเกตปลาในกระชังหากลอยเหนือน้ำขึ้นมาเป็นสัญญาณบ่งบอกไม่ปกติ ส่วนปลาในแม่น้ำสงครามเกิดการน็อกน้ำไม่ใช่เกิดจากโรคระบาด จึงไม่เข้าระเบียบเงินทดรองราชการว่าด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีภัยพิบัติ ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง
ขณะที่นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 509 ราย จำนวน 8,600 กระชัง จำนวนนี้มีเกษตรกรที่ไม่ขึ้นทะเบียน 200 ราย สาเหตุที่ทำให้ปลาในกระชังตายจำนวนมากนั้นเกิดจากฝนที่ตกลงมามากผิดปกติ ทำให้ระดับน้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นหนุนสูงเหนือกว่าแม่น้ำสงคราม ทำให้น้ำหยุดนิ่งจึงขาดออกซิเจน ซึ่งปกติต้องมีค่าออกซิเจนในน้ำที่ 5 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไป ทั้งพบว่าผู้เลี้ยงนำปลาลงกระชังหนาแน่นเกินไปด้วย
สรุปความเสียหายล่าสุด มีผู้เลี้ยงเดือดร้อน 9 ราย 362 กระชัง มูลค่าความเสียหาย 13 ล้านบาท ขณะที่ผู้เลี้ยงนำปลาที่ตายไปทำประโยชน์แปรรูปเป็นปลาร้า ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เน่าเสียให้นำไปฝังกลบและทำลายเพื่อป้องกันเชื้อโรค ซึ่งทางจังหวัดกำลังหาทางเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอยู่
ด้านนางทรัพย์สิน แซ่เอีย วัย 53 ปี ผู้เลี้ยงปลาที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด กล่าวว่า ปลาตายหมดทั้ง 20 กระชังกว่า 12,000 ตัว เป็นเงินกว่า 300,000 บาท เก็บปลาที่ยังไม่เน่าได้ 2 ตัน โดยคัดปลาตัวโต น้ำหนัก 7-8 ขีดนำไปคลุกเกลือหมักทำปลาร้า ซึ่งต้องใช้เวลานานข้ามปีจึงจะนำออกขายมีรายได้จุนเจือครอบครัวบ้าง