นครพนม - ผู้เลี้ยงปลากระชังลุ่มแม่น้ำสงคราม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โอดปลาเลี้ยงตายยกกระชังกว่า 200 กระชังนับแสนตัว หลังจากน้ำมีสีคล้ำ ชาวบ้านเชื่อมีสารเคมีปนเปื้อนจากพื้นที่ต้นน้ำ เผยเสียหายหนักในรอบ 20 ปี หน่วยงานรัฐชี้อาจมาจากปัญหาน้ำไม่หมุนเวียน คาดเสียหายเบื้องต้นกว่า 7 ล้านบาท
วันนี้ (16 มิ.ย.) เกิดเหตุปลาเลี้ยงในกระชังลอยตายจำนวนมาก โดยกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังในลำน้ำสงคราม ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม แจ้งว่ามีปลากระชังที่เลี้ยงไว้กว่า 200 กระชังน็อกน้ำตายจำนวนมาก โดยสถานที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำสงคราม หมู่ 2, หมู่ 11 พบชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากำลังพายเรือเร่งนำเข่งและกระสอบไปเก็บปลาที่ตายในกระชังขึ้นมาชำแหละทำปลาร้า บางส่วนต้องทิ้งไป ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วลำน้ำ ปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายและทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก
นางทองใบ บุตรบุรี วัย 53 ปี หนึ่งในเกษตรกรที่เดือดร้อนจาก 20 กว่าราย กล่าวว่า เลี้ยงปลาในกระชัง 20 กระชังมานานร่วม 20 ปี มีปลาคัง ปลากด ปลายาง และปลานิลซีพี จำนวนกว่า 2 ตัน เกิดตายยกกระชังโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา เสียหายเป็นเงินกว่า 300,000 บาท จึงนำมาชำแหละทำปลาร้าไว้ ที่ผ่านมาปลาไม่เคยตายมากขนาดนี้ คาดว่าอาจมีคนปล่อยสารพิษหรือยาฆ่าหญ้าจากต้นน้ำลงแม่น้ำสงคราม ขอให้ประมงอำเภอและประมงจังหวัดนครพนมมาตรวจสอบด้วย
ขณะที่นายสุรพล บุญญะศรี อายุ 62 ปี เกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังอีกราย กล่าวว่า เลี้ยงปลาตะเพียนแดงไว้ 1 กระชัง ตายทั้งหมดกว่า 200 กิโลกรัม เป็นเงินกว่า 10,000 บาท หลังเลี้ยงมาได้ 2 ปี ก่อนหน้าที่ปลาจะตายเกิดเหตุน้ำสีคล้ำและสีของน้ำได้ติดในอวนชาวประมงที่ปล่อยมาจากปลายน้ำทางด้านบ้านหาดกวน บ้านวังโพธิ์ ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงด้านแม่น้ำสองสี บ้านตาลปากน้ำ หมู่ 2 และหมู่ 11
ด้านนายศุกรี บุญกอง หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการประมง สำนักงานประมง จ.นครพนม กล่าวว่า เมื่อวานนี้มีปลากระชังต้นน้ำที่บ้านหาดกวนตายเสียหายกว่า 120 ตัน
ล่าสุดวันนี้มีผู้เลี้ยงปลากระชังที่บ้านตาลปากน้ำ ต.ไชยบุรี ซึ่งอยู่ปลายน้ำปลาตายจำนวนมาก แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุ ความเสียหายเบื้องต้น คาดว่าเกษตรกรได้รับความเสียหายกว่า 7 ล้านบาท
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปลาตายจำนวนมากคาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำสงครามและระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับเท่ากันในช่วงฤดูฝน ทำให้มวลน้ำไม่หมุนเวียน ขณะที่สาหร่ายในน้ำยังขาดออกซิเจน เมื่อฝนตกลงมาติดต่อกันนานร่วมสัปดาห์ค่าออกซิเจนในน้ำจึงต่ำกว่าปกติ เป็นสาเหตุให้ปลาตาย อาจไม่เกี่ยวกับสารพิษที่ชาวบ้านและผู้เลี้ยงระบุ
หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการประมงกล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น ผู้เลี้ยงต้องนำเครื่องเพิ่มออกซิเจนใส่ในทุกกระชัง หลังสำรวจพบแพลงก์ตอนพืชมีสีเขียวในน้ำ และดูดเอาออกซิเจนในน้ำไปหมดในช่วงกลางคืนตั้งแต่ 18.00 น. หากแดดไม่ส่องในช่วงกลางวันปลาก็ขาดอากาศโดยอัตโนมัติ อีกทั้งมีของเสียจากกากอาหาร/ขี้ปลาจำนวนมาก ไหลระบายไหลลงแม่น้ำโขงไม่ทัน จึงเกิดผลกระทบดังกล่าว
ส่วนการจ่ายเงินชดเชยจากภาครัฐไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพื้นที่เลี้ยงต้องห่างจากวัดและที่สูบน้ำทำระบบประปา 200 เมตร จะต้องเป็นพื้นที่เลี้ยงที่ทางจังหวัดประกาศให้เลี้ยงเท่านั้น เงื่อนไขที่จะจ่ายเงินชดเชยได้ต้องทำประชาคมหมู่บ้านประกาศให้เป็นพื้นที่เลี้ยง และทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเท่านั้นจึงจะได้รับเงินชดเชย