xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.นรข.นครพนม แฉ จนท.รัฐรับส่วยดูดทราย ท่าทราย ถูก กม.แค่ 20 ราย อีกกว่า 60 รายเถื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครพนม - ผบ.นรข.เขตนครพนม สุดทน แฉ จนท.รัฐรับส่วยดูดทราย จี้ทบทวนขึ้นค่าธรรมเนียมที่เก็บน้อยเกินไป ขณะที่เอกชนเจ้าของสัมปทานรับทรัพย์มหาศาล ระบุมีท่าทรายถูกกฏหมายแค่ 20 ราย ส่วนอีก 65 แห่ง ล้วนเถื่อน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ทั้งเสียง อากาศ ถนนทรุดพัง

น.อ.สุรศักดิ์ สุวรรณเกษา ผู้บังคับการ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง(นรข.) เขตนครพนม กล่าวถึงทรัพยากรทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเขตพื้นที่ จ.นครพนม ว่า จากการประเมินคร่าวๆ พบว่ามีถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คูณกับราคาที่ผู้ประกอบการได้รับสัมปทานตักขายเท่ากับ 6,000 ล้านบาท แต่คณะกรรมการพิจารณาดูดทรายกลับคิดค่าธรรมเนียมต่อปีเพียงแห่งละ 3,000 บาท จากจำนวนผู้ประกอบการ 20 ราย เป็นเงินรวมกันแล้ว แค่ 6,000 บาท ลบ.ม. หรือ ลบ.ม.ละ 2 บาท

ซึ่งทรัพยากรทรายในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะบริเวณหาดทรายท้ายเมือง รอยต่อ อ.เมือง กับบ้านหนองจันทร์ หมู่ 14 ต.ท่าค้อ เป็นของส่วนรวม มูลค่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนดูดทรายตกลบ.ม.ละ 24 บาท ค่าขุด 7 บาท ขาย ลบ.ม.ละ 200 บาท หน้าแล้งพุ่งเป็น 300 บาท คำนวณแล้วผู้ประกอบการได้กำไรมากเกินควร แต่เก็บภาษีเข้ารัฐได้แค่เพียงน้อยนิด จึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขขึ้นค่าธรรมเนียมอีก 50% เพื่อแก้ปัญหาชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากมลภาวะเป็นพิษ ฝุ่นฟุ้งกระจายในฤดูแล้ง

ทั้งนี้ เรือดูดทราย 1 ลำ สามารถดูดทรายได้ 800 ลบ.ม. คูณราคาขาย 200 บาท แต่ละแห่งตกเป็นเงิน 1.6 แสนบาทต่อวัน คูณกับจำนวนผู้ประกอบการที่ได้สัมปทาน 20 ราย คิดเป็นเงิน 40 ล้านบาทต่อวัน แต่มลพิษตกอยู่กับชาวบ้าน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการพิจารณากลับรับส่วยที่นายทุนเห็นแก่ได้ลงขันหยิบยื่นให้ต่อรายไม่เกิน 3 แสนบาท คิดเป็นเงินแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อสัมปทานแต่ละครั้ง

น.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ตัวแทนรัฐโดยเฉพาะคณะกรรมการชุดนี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านใน อ.ธาตุพนม อ.ท่าอุเทน พบว่า มีฝุ่นละออง ถนนพังเสียหาย และยังพบว่ามีผู้ลักลอบดูดทรายที่ไม่มีใบอนุญาต 65 ราย ส่วนที่มีใบอนุญาตถูกต้องมี 20 ราย

จึงต้องพิจารณาทบทวนปรับค่าธรรมเนียนใหม่ให้มีความเหมาะสม เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเก็บเข้ารัฐ 80% ผู้ประกอบการได้ 20% ผู้ประกอบการรับไม่ได้ก็เลิกไปเอง

“คณะกรรมการชุดนี้มี 18 คน มีที่ดินจังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ ต้องผลักดันให้ทบทวนขึ้นค่าธรรมเสียใหม่ เพื่อนำเงินมาตั้งกองทุนเด็ก กองทุนหมู่บ้าน และกองทุนสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุจากปัญหาทำหินทรายหล่นเรี่ยราดตามท้องถนน ช่วยเหลือการกุศล ซื้ออุปกรณ์กีฬา มีลานแอโรบิกให้ชาวบ้านออกกำลังกาย จัดซื้อรถดูดฝุ่น และรถล้างถนนเพิ่ม จัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงให้ฝ่ายปราบปราม ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่เคยใส่ใจถึงเรื่องนี้ เห็นแก่ตัวเอา แต่ได้เพียงฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงสังคม และผู้เดือดร้อน”

ด้านนายชาญมเหศวร พงษ์พันธุ์นทีธร ผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านที่ล่ารายชื่อถึงความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวแล้ว พร้อมนำหลักฐานไปยื่นให้ทางจังหวัด เพื่อเร่งตรวจสอบผู้ประกอบการที่ลักลอบดูดทรายเถื่อนทั้ง 65 แห่ง ใน อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม แต่เรื่องกลับเงียบหายไป จึงนำหลักฐานไปยื่นที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เร่งตรวจสอบต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น