xs
xsm
sm
md
lg

สคร.7 อุบลฯ พบกินส้มตำป่วยท้องร่วง-อาหารเป็นพิษแล้วกว่าร้อยราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุบลราชธานี - แพทย์สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี พบปลาร้า-ปูใส่ส้มตำมีสารปนเปื้อน ทำให้ลูกค้าในเขตอำเภอเมืองและวารินชำราบที่ซื้อมาบริโภคป่วยแล้วกว่า 100 คน

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี ได้รับรายงานจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรองสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ซึ่งได้รับแจ้งจากทีมแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี เมื่อเย็นวันที่ 10 มิ.ย. พบผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลว ปวดบิด อาเจียน ไม่มีไข้ จำนวน 60 ราย เข้ารักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่เวลา 02.00-12.00 น. ของวันดังกล่าว

ในจำนวนนี้ มีอาการหนักจำนวน 6 ราย แพทย์ต้องรับตัวไว้รักษา ที่เหลือหลังให้ยามีอาการดีขึ้นให้กลับบ้านได้ ขณะเดียวกันยังได้รับแจ้งจากทีมสอบสวนโรค พบว่าระหว่างวันที่ 7-11 มิ.ย.มีผู้ป่วยลักษณะดังกล่าวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอวารินชำราบ ถึง 124 ราย ในจำนวนนี้ต้องรับตัวไว้รักษาถึง 24 ราย

ทีมเคลื่อนที่เร็วประจำโรงพยาบาลอำเภอวารินชำราบ และสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี จึงลงพื้นที่สอบสวนโรค และเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจอย่างเป็นทางการ

จากการสอบสวนประวัติผู้ป่วยระบุว่า รับประทานส้มตำจากร้านค้าในเขตอำเภอวารินชำราบตามจุดต่างๆ ทั้งในตลาดอุบลเจริญศรี หน้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และร้านส้มตำที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ถนนกันทรลักษ์

ส่วนผู้ป่วยอำเภอเมืองก็รับประทานส้มตำร้านถนนเขื่อนธานี 3 ชุมชนหาดวัดใต้ ร้านส้มตำข้างวัดสารพัดนึก ร้านส้มตำซอยบ่อนไก่ ถ.สุขาอุปถัมภ์ และร้านส้มตำชุมชนบ้านท่าบ่อ โดยผู้ป่วยมีอาการในระยะฟักตัวสั้นที่สุดประมาณ 7 ชั่วโมง

สำหรับการระบาดพบเกิดจากการรับประทานส้มตำใส่ปล้าร้าและปูดิบ โดยปลาร้าและปูจากร้านที่พบผู้ป่วยได้รับมาจากร้านจำหน่ายส่งในอำเภอสิรินธร จึงให้ทีมเคลื่อนที่เร็วสั่งระงับการจำหน่ายปลาร้าและปูใส่ส้มตำของร้านขายส่งดังกล่าวไว้แล้ว

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 กล่าวต่อว่า สำหรับโรคอาหารเป็นพิษหรือโรคท้องร่วงมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่การเสียชีวิตส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีโรคอื่นประกอบอยู่ด้วย

สำหรับโรคอุจจาระร่วงสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหารที่สะอาดผ่านการปรุงสุก ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะจะหลีกเลี่ยงโรคอุจจาระร่วงได้อย่างดี

ส่วนข้อแนะนำในการป้องกันการเกิดโรคท้องร่วงคือ 1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ 2. ล้างผักผลไม้ให้สะอาด โดยล้างผ่านน้ำหลายๆ ครั้ง หรือแช่ในน้ำเกลือ หรือแช่ในน้ำละลายด่างทับทิม หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดา 3. ล้างภาชนะให้สะอาดทุกครั้ง เช่น เขียง มีด ช้อน ส้อม ถ้วย จาน แก้วน้ำ และควรใช้ช้อนกลางทุกครั้งในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และผ่านการปรุงที่ถูกต้องปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องนำมารับประทานอีกควรทำให้ร้อนจึงจะปลอดภัย โดยมีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าน้ำเดือดปุดๆ คืออุณหภูมิถึง 100 องศาเซลเซียส 5. เก็บอาหารไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีคือ 5-60 องศาเซลเซียส ถ้าต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เชื้อโรคจะไม่เจริญเติบโตแต่ไม่ตาย จึงควรอุ่นอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น