xs
xsm
sm
md
lg

กะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร วอนรัฐสนับสนุนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาญจนบุรี - กะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร 6 หมู่บ้านในเมืองกาญจนบุรี วอนรัฐสนับสนุนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

เมื่อเวลา 12.00 น. วันนี้ (12 มิ.ย.57) นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการอำนวยการเพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5 - 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยง และนักวิชาการกว่า 200 คนจากทั่วประเทศ ได้จัดการประชุมเพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ศูนย์วัฒนธรรมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งที่ประชุมได้มีมติในหลักการ "ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้" เป็นข้อเสนอ 6 ด้าน แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1.ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ต้องการการคมนาคมที่สะดวก มีถนนที่ได้รับการซ่อมแซมให้รถวิ่งสัญจรได้ต้องการไฟฟ้า โซล่าเซลล์ ไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก หรือไฟฟ้าจากภายนอก ต้องการสะพานข้ามแม่น้ำที่แข็งแรงสามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล ต้องการสถานีอนามัยให้ทั่วถึง และต้องการสัญญาณโทรศัพท์เข้าถึงพื้นที่เพื่อติดต่อสื่อสาร

2.ด้านการจัดการทรัพยากรและที่ทำกิน ให้รัฐยอมรับและสนับสนุน "ไร่หมุนเวียน" ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้รัฐกำหนดขอบเขตที่ทำกินที่ชัดเจน ให้ชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและมีสิทธิดูแลพื้นที่ด้วยตนเอง

3.ด้านสิทธิในสัญชาติให้รัฐดำเนินการทำบัตรประชาชนแก่ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมติดแผ่นดินโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

4.ด้านการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ให้รัฐและบุคคลภายนอกยอมรับกฎเกณฑ์ระเบียบของหมู่บ้าน ให้รัฐส่งเสริมวัฒนธรรมการแต่งกาย การทอผ้า ภาษา และศิลปะพื้นบ้านกะเหรี่ยง

5.ด้านการศึกษาให้รัฐส่งเสริมการศึกษาในระบบของรัฐเพิ่มเติมชั้นเรียนและขยายโอกาสให้เรียนสูงขึ้นในโรงเรียน ส่งเสริมระบบการศึกษาเป็นระบบชุมชนจัดการศึกษาด้วยตนเอง สนับสนุนครูภูมิปัญญาในชุมชนโดยไม่จำกัดวุฒิ ส่งเสริมและสนับสนุนหลักสูตรของชุมชนเอง สนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ กำหนดให้ชุดกะเหรี่ยงเป็นเครื่องแบบนักเรียน รวมทั้งสนับสนุนผู้ที่จบการศึกษาสามารถ กลับมาทำงานในชุมชน

และ 6.ด้านกลไกการขับเคลื่อน ให้รัฐมีกลไกและหน่วยงานเข้ามาขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 โดยตรง ให้มีศูนย์วัฒนธรรมประจำในหมู่บ้าน และสนับสนุนองค์กรภายนอกต้องเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนากับหมู่บ้าน

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ของประเทศไทย ได้รับความเดือดร้อนในปัญหาต่างๆ ที่สะสมมายาวนานเกี่ยวกับความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงซึ่งครอบคลุมถึงการจัดการทรัพยากรแบบธรรมชาติด้วยการทำไร่หมุนเวียน การผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง การให้คุณค่ากับป่าวิธีคิดในเรื่องสิทธิ ที่มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ และยังไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมและภาษาของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ

ตลอดจนการจัดการระบบการศึกษาของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งกำหนดพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษ กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการจะต้องนำข้อเสนอเหล่านี้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้ แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ได้กำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโดยมีพื้นที่นำร่อง คือ บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และ บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น