xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับ “หนุ่มกะเหรี่ยง” เรื่องร้อนในป่าใหญ่

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

พอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่)
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปทัศนศึกษาที่กาญจนบุรี ตามคำชักชวนของประธานเพจ “รัฐศาสตร์ ม.ร. FC” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาและศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในเฟซบุ๊ก นอกจากจะได้ประสบการณ์แบบ “โหด-มัน-ฮา” ตั้งแต่ยืนบนรถไฟตั้งแต่สถานีธนบุรี กว่าจะมีที่นั่งว่างก็ถึงสถานีกาญจนบุรี หรืออีกวันหนึ่งที่ไปน้ำตกเอราวัณ ต้องขึ้นไปถ่ายรูปบนน้ำตกชั้น 7 ต้องเดินเท้าไกลถึง 1.5 กิโลเมตรแล้ว ยังได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างคณะ

อันที่จริงผมเรียนวิชาเอกสื่อสารมวลชน ของคณะมนุษยศาสตร์ ส่วนวิชาโทผมลงรัฐศาสตร์เอาไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะปิดกั้นคนที่มาจากคณะอื่นอย่างผม ยังคุยกัน เฮอากันได้ บางคนที่เรียนรัฐศาสตร์ แต่ลงวิชาโทสื่อสารมวลชนเอาไว้ ยังปรึกษาผมเรื่องการเรียนต่อ หรือการทำงาน เพราะเขาเพิ่งเรียนจบ ซึ่งก็พอให้คำแนะนำได้บ้าง เพราะในคณะมีปัญหาหลังแยกสาขาวิชาสื่อสารมวลชนเป็นคณะต่างหาก

ในวันนั้นได้รับประสานงานอย่างดีจาก “หนุ่มเจ้าถิ่น” รุ่นน้องที่ประสานงานทั้งติดต่อบ้านพัก และรถรับ-ส่งไปยังจุดต่างๆ ซึ่งเราได้เข้าพักที่บ้านไร่ลุงจวบ ใน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ห่างจากน้ำตกไทรโยคน้อยไม่ไกลมากนัก โดยเจ้าของอย่างลุงจวบได้ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องที่พักซึ่งได้แบ่งบ้านพักออกเป็นหลังๆ สถานที่จัดเลี้ยงและอาหารการกิน แต่น่าเสียดายที่หนุ่มเจ้าถิ่นคนนี้ต้องเข้างานต่อหลังส่งพวกเราออกจากบ้านพักมุ่งหน้าไปยังน้ำตกเอราวัณก่อนกลับกรุงเทพฯ

คืนวันนั้นผมสนทนากับหนุ่มเจ้าถิ่นอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หน้าที่การงาน มาถึงเรื่องส่วนตัว เขาเปิดเผยว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี แต่ขณะนี้ได้เข้ามาทำงานอีกอำเภอหนึ่ง จะขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านก็นานๆ ครั้ง ขณะเดียวกันเขาได้ไปสมัครเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเอาไว้ ซึ่งตั้งใจว่าหากเรียนจบแล้วจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

เขาเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านที่เขาอยู่นั้นต้องเดินเท้าเข้าไปนับสิบกิโลเมตร แม้ยานพาหนะจะเข้าไปได้แต่สัญจรได้เฉพาะช่วงหน้าแล้ง และต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ บรรยากาศส่วนใหญ่เป็นป่า มีวัด มีโรงเรียน และมีลำธารตัดผ่านกลางหมู่บ้าน เขายังบอกเลยว่าถ้ามีโอกาสอยากจะให้ไปเที่ยวที่บ้านเขาสักครั้ง ไปสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีค่ายอาสาเข้ามาก่อสร้างอาคารเรียน เขาก็ไปช่วยประสานงานให้

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการสนทนากับเขา ก็ได้ทราบว่าที่หมู่บ้านทุกคนไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน เพราะอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่หากย้อนกลับไปพวกเขาอาศัยอยู่ตรงนี้มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเสียด้วยซ้ำ ในหมู่บ้านทุกคนมีสัญชาติไทย เขาเล่าว่าที่ชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาอาศัยอยู่ในป่า ห่างไกลความเจริญแต่มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะพวกเขาไม่ต้องการสงคราม โดยยกวลีที่ว่า “ที่ใดมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีความสงบ”

เขาเล่าให้ฟังว่า ตำนานของชาวกะเหรี่ยงนั้น ต้นกำเนิดมาจากทิเบต ลงมาถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งภายหลังผมลองไปค้นข้อมูลเพิ่มก็พบว่า ต้นกำเนิดจริงๆ อยู่ที่มองโกเลียเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน ต่อมาได้หนีภัยจากสงครามมาอยู่ที่ทิเบต และเมื่อถูกรุกรานจากกองทัพจีนอีก ก็ถอยร่นลงมาทางใต้ ตั้งแต่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ถึงดินแดนลุ่มน้ำสาละวินในเขตพม่า จากนั้นก็กระจัดกระจายในแถบเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่เหนือจรดใต้

ต่อคำถามที่ว่า ชาวกะเหรี่ยงที่เข้ามานั้นบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน เขาก็อธิบายให้ฟังว่าถึงจะยอมรับว่ามีการตัดไม้เพื่อนำไปใช้สอยก็จริง แต่ก็ตัดเท่าที่จำเป็นเพื่อดำรงชีวิต ไม่ได้ถึงกับทำลายธรรมชาติโดยรวม เพราะไม่ได้ตัดไม้แบบเอาเป็นเอาตายจนโล่งเตียนเหมือนพวกนายทุน ไม่อย่างนั้นคงไม่มีแหล่งน้ำ และอันที่จริงชาวบ้านเหล่านี้ซึ่งอยู่มาก่อนที่จะประกาศเขตอุทยานแห่งชาตินั้น เป็นฝ่ายที่รักษาธรรมชาติและป่าไม้เสียด้วยซ้ำ กระทั่งได้รับขนานนามให้เป็นมรดกโลก

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เขาอธิบายว่า ที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็อยู่ร่วมกันได้ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างเช่นในเขตภาคเหนือกำหนดให้เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ถึงกระนั้นในฐานะที่เขาอาศัยอยู่ในป่าและต้องใช้ป่าในการดำรงชีวิต กฎหมายบางครั้งมันก็ไม่ยุติธรรมกับเราเท่าที่ควร ซึ่งควรจะมีการให้สิทธิ์กับเราซึ่งมีวิถีชีวิตดั้งเดิมมากกว่านี้ เช่น สิทธิในการใช้พื้นที่ ฯลฯ

กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ หนุ่มชาวกะเหรี่ยงวัย 31 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา แน่นอนว่าย่อมมีความเกี่ยวข้องกับชาวกะเหรี่ยงทั้งประเทศ เขาบอกกับผมว่าได้ฟังเสียงสะท้อนทั้งจากชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มองว่าหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคนนี้ดี มีผลงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

แต่อีกด้านหนึ่ง ในเครือข่ายเฟซบุ๊กได้แชร์ภาพบ้านพักของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายบิลลี่ เขาเอาภาพจากโทรศัพท์มือถือที่บันทึกไว้มาแสดงให้ผมดู พบว่าบ้านพักสร้างด้วยไม้ทั้งหลังอย่างใหญ่โต แล้วเปรียบเทียบกับบ้านของชาวกะเหรี่ยงที่เป็นเพียงกระท่อมเล็กๆ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นข้าราชการจริงเงินไม่เยอะขนาดนี้ และเห็นว่ามีเพียงเพชรบุรีจังหวัดเดียว ที่ชาวกะเหรี่ยงมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ทุกวันนี้เครือข่ายสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของพวกเขาได้ถูกเผยแพร่ต่อสังคมอย่างกว้างขวาง จากที่เมื่อก่อนเรื่องพวกนี้น้อยครั้งมากที่จะเป็นข่าวโด่งดัง เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่มุ่งแต่ลงข่าวสนองภาครัฐและฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่ชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่มีปากมีเสียงที่จะขอให้สื่อมวลชนเป็นที่พึ่งได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าทุกวันนี้สื่อมวลชนเปลี่ยนไปเยอะ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีเพียงสื่อที่อยู่ในกำกับของรัฐเท่านั้นที่มีบทบาทต่อสังคม

อันที่จริงผมคุยกับหนุ่มเจ้าถิ่นคนนี้หลายเรื่อง กินระยะเวลาไปถึงตีสี่ แต่คงเป็นเพราะผมพักผ่อนน้อย เลยจับใจความเรื่องราวต่างๆ ได้ไม่หมด และด้วยมิตรภาพที่มีให้กันเขายังชวนผมไปเที่ยวที่หมู่บ้านของเขา ไปสัมผัสธรรมชาติจริงๆ และคนในพื้นที่จริง ซึ่งผมเองและเพื่อนร่วมทริปส่วนหนึ่งก็ให้ความสนใจ คิดว่าหากได้วันลาพักร้อนที่ออฟฟิศแล้วกะจะลางานไปที่นั่นสักครั้ง เนื่องจากการเดินทางไปทุ่งใหญ่นเรศวรต้องใช้ระยะเวลานับวัน อีกทั้งต้องเดินเท้านับสิบกิโลเมตร

เรื่องของนายบิลลี่ที่หายตัวไปเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความรู้สึกส่วนตัวไม่ค่อยได้ติดตามข่าวนี้สักเท่าไหร่ จำได้แต่เพียงว่าเขาหายตัวไปแล้วถึงวันนี้ยังไม่เจอตัว แต่เมื่อมาดูบทบาทที่สำคัญของเขา นอกจากจะเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแล้ว ก่อนหน้านี้เขายังเป็นผู้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกรณีเผาบ้านและยุ้งข้าวชาวกะหร่าง ซึ่งพวกเขามั่นใจว่า การหายตัวไปทางเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน

และอันที่จริง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อย่างนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ก็เคยตกเป็นข่าวอื้อฉาว เพราะเคยถูกร้องเรียนว่าได้นำเจ้าหน้าที่เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยบน กว่า 20 ครัวเรือน เมื่อปี 2554 ซึ่งนายบิลลี่นำชาวกะหร่างบางกลอยไปร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลปกครอง และสภาทนายความ อีกทั้งยังเป็นพยานในคดีของศาลปกครองด้วย

ที่น่าแปลกก็คือ เฟซบุ๊กของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน วงเล็บไว้ว่า (วีรบุรุษแห่งแก่งกระจาน) คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่คนหนึ่งมองว่า ความรู้สึกเมื่อแรกพบก็ติดลบแล้ว เพราะไม่ชอบพวกที่ชอบยกหางตัวเองสักเท่าใด คนอะไรไม่รู้ตั้งชื่อตัวเองเป็นวีรบุรุษ ต่อให้ลูกน้องทำให้ หัวหน้าต้องเจียมตัวบ้าง แต่ทีนี้ในเฟซบุ๊กมีแต่การแชร์คลิป ดำรง พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ชัดเจนว่าเป็นพวกชอบใช้วิถีทางความรุนแรง

ผมฟังคอลัมนิสต์คนนี้กล่าวถึงแล้วก็ได้แต่แอบขำตามกันไป เพราะนายดำรงนี่ไม่ได้เป็นคนดีเด่อะไรเลย แต่เป็นคนใกล้ชิดนักการเมืองอย่าง “ยุทธ ตู้เย็น” ยงยุทธ ติยะไพรัช เคยก่อวีรกรรมขนเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาป่วนคนที่มาฟังการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินีเมื่อปี 2548 ตามใบสั่งของระบอบทักษิณ มีข่าวไล่รื้อรีสอร์ทบุกรุกป่าสงวนพอเป็นพิธี พอเกษียณราชการแล้วก็มาตั้งพรรคการเมือง ชื่อว่า “ทวงคืนผืนป่าประเทศไทย” แต่สอบตก

นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มองดูแล้วเหมือนทำเอาหน้า ทำเพื่อหวังผลทางการเมืองทั้งนั้น เพราะทุกวันนี้รีสอร์ตที่บุกรุกป่าสงวนยังไม่หมดไป หนำซ้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นทำลายสิ่งที่เคยมีอยู่แต่เดิม ด้วยสิ่งปลูกสร้างที่แปลกตาคนละเรื่องกับความเป็นธรรมชาติอย่างน่าประหลาด ไม่เชื่อลองขับรถไปตามเส้นทางเขาใหญ่ ไปถึงวังน้ำเขียว ทัศนียภาพที่เป็นธรรมชาติถูกสิ่งแปลกปลอมอย่างรีสอร์ทและสวนดอกไม้รุกคืบกันไปเกือบจะหมดแล้ว

ผู้ใหญ่ท่านนี้มองว่า กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ เหตุมาจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกักตัวไว้บอกว่ามีน้ำผึ้งป่า 6-7 ขวดผิดกฎหมาย แล้วอ้างว่าปล่อยตัวไปแล้ว ทั้งที่ถึงป่านนี้แล้วยังหาตัวไม่เจอ เป็นเรื่องของคนเล็กคนน้อยในสังคมที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่คนในสังคมควรสนใจ อย่าไปสนวาทกรรมไพร่อำมาตย์ชนชั้นรากหญ้าอะไรของแกนนำม็อบหารับประทานเลย สนใจเรื่องนี้เหอะ นี่แหละคือชนชั้นที่ถูกอำนาจบาตรใหญ่รังแกของจริง

ฟังอย่างนี้แล้วก็ได้แต่คิดว่า แม้ในยุคนี้ความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีก้าวไปไกลมาก แต่คำว่า “บ้านป่าเมืองเถื่อน” จากผู้มีอิทธิพล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้น และไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทยจริงๆ...
กำลังโหลดความคิดเห็น