ศูนย์ข่าวศรีราชา - เจ้าหน้าที่เทศบาลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมตรวจท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ หลังจากชาวบ้านร้องเรียนได้รับผลกระทบจากการขนถ่ายถ่านหิน
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย อดีตเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตัวแทนเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษากลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุมชนบ้านอ่าวอุดม พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้าน ลงพื้นที่ท่าเทียบเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ อ.ศรีราขชา จ.ชลบุรี
นายสนธิ กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังคณะอนุกรรมาธิการเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองถ่านหินพัดเข้าบ้านในชุมชนอ่าวอุดม และถ่านหินร่วงหล่นลงทะเลระหว่างการขนส่งสินค้า ลอยเข้าสู่พื้นที่ทำการประมงบ้านอ่าวอุดม สุดท้ายมีการปตกลงร่วมกันระหว่างท่าเรือและชุมชน โดยวุฒิสภาเป็นผู้ประสานงานให้ ร่วมกับเทศบาลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ไปแก้ไข วันนี้จึงได้ลงมาตรวจหลังการแก้ไขแล้ว
ดร.สมนึก กล่าวว่า ทางท่าเทียบเรือได้ปรับปรุงระบบการขนถ่ายภายในให้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดบล้อมส่วนของท่าเรือ ที่มีการขออนุญาตหน้าท่าเพิ่มเติม การทำระบบกรองน้ำ กรองเศษไม้ ฝุ่น แร่เหล็ก และสินค้าเทกองอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุมชนบ้านอ่าวอุดม ยังอยากให้มีการติดตามข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง รวมถึงขอดูรายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับการเกิดเพลิงไหม้ของเรือขนส่งถ่านหินเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นขณะจะเดินทางเข้าเทียบท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ แต่สุดท้ายมีคำสั่งให้ลอยลำจนกว่าจะดับไฟให้สนิท
ทั้งนี้ ต้องการใช้อุบัติเหตุในครั้งนี้เป็นบรรทัดฐานร่วมกันในการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมกำกับดูแลร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานราชการมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อวางมาตรการป้องกันปัญหาลักษณะนี้ในอนาคต โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าอันตราย และเกิดเพลิงไหม้ ขอให้มีการแจ้งผ่านเอสเอ็มเอสให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของชุมชนบ้านอ่าวอุดม ได้ทราบล่วงหน้าทุกครั้งที่มีการขนถ่ายถ่านหิน เพื่อที่กรรมการ และคนในชุมชนบ้านอ่าวอุดม จะได้ร่วมเฝ้าระวัง และติดตามตรวจสอบว่าไม่มีผลกระทบเชิงลบเกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้ ยังขออนุญาตมาชมวิธีการขนถ่ายถ่านหิน ที่มีการปรับปรุงระบบแล้ว เพื่อให้เข้าใจถึงมาตรการลดผลกระทบภาคปฏิบัติที่ทางท่าเรือนำมาใช้ การตรวจค่าน้ำควรมีการตรวจปริมาณโลหะหนักในกลุ่มต่างๆ ร่วมด้วย และควรแจ้งข้อมูลให้กรรมการสิ่งแวดล้อมบ้านอ่าวอุดมทราบทุกครั้ง เพื่อความสบายใจของชุมชน และขอให้ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ เข้าร่วมประชุมพหุภาคีร่วมกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมบ้านอ่าวอุดมในครั้งต่อไป โดยอาจจะเป็นการเข้าสังเกตการณ์ก็ได้
ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกับท่าเรืออื่นๆ ที่เข้ามาร่วมกันก่อนหน้านี้ ตามข้อกำหนดของธรรมนูญชุมชนบ้านอ่าวอุดม โดยเชิญผู้ประกอบการทุกภาคส่วน มาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดม ทำให้บ้านอ่าวอุดม และชุมชนอื่นริมทะเลโดยรอบ รวมทั้งพื้นที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์น่าอยู่อย่างยั่งยืน
ด้านนายพงษ์ศิลป์ สุวรรณพิมล ผู้จัดการทั่วไป ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ ได้กล่าวนำเสนอการแก้ปัญหาว่า ปัจจุบันท่าเรือมีใบอนุญาตขนถ่ายถ่านหินจากกรมเจ้าท่า และผ่านการอนุมัติแผนแก้ไขผลกระทบสิ่งแวด้อมในการขนถ่ายสินค้าเทกองแล้ว แต่เพื่อให้การแก้ปัญหามีความครบถ้วน ท่าเรือก็จะดำเนินการแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมโครงการเพื่อขนถ่ายถ่านหินจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้นำเสนอแผนงานต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายถ่านหิน
คือการปรับปรุงการขนถ่ายโดยใช้กรวยรับสินค้าแทนที่รถขุด ซึ่งจะป้องกันฝุ่นได้ดีกว่าการติดตั้งผ้าใบรองสินค้า มีระบบสเปรย์น้ำป้องกันฝุ่น มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง และคุณภาพน้ำทุกครั้งที่มีการขนถ่าย มีการติดตั้งระบบบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาใช้กรณีมีประเด็นปัญหา และปรับปรุงการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยการปลูกต้นไม้รอบท่าเรือ การติดตั้งเครื่องตรวจจับฝุ่นละออง การติดตั้งตาข่ายกันฝุ่นรอบท่าเรือ และพื้นที่ทำงาน การจัดทำโครงการเพื่อชุมชนในพื้นที่