xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเสนอ “บ้านอ่าวอุดม” โมเดลการอยู่ร่วมกันระหว่าง “ชุมชน-อุตสาหกรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการเสนอ “บ้านอ่าวอุดม” โมเดลการอยู่ร่วมกันระหว่าง “ชุมชน-อุตสาหกรรม” หลังพบหลายพื้นที่ขัดแย้งเป็นประจำ ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่จริงใจของผู้ประกอบการที่หวังผลกำไรมากเกิน ให้ความสนใจประชาชนที่อยู่โดยรอบค่อนข้างน้อย

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา และเลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า จากการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน พบว่าในหลายพื้นที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน สังเกตจากเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่จริงใจของผู้ประกอบการ ที่ต้องการเร่งผลิตเพราะหวังผลกำไรมากเกินไป โดยให้ความสนใจประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบค่อนข้างน้อย

จึงเกิดความไม่ไว้วางใจจากภาคประชาชน และเกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวาง หากเป็นอย่างนี้ต่อไปจะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก จนเกิดผลกระทบต่อการลงทุน และการดำเนินชีวิตของประชาชน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน และเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ได้ร่วมกับประชาชน และภาคอุตสาหกรรมบ้านอ่าวอุดม เขตเทศบาลเมืองแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จัดทำโมเดลการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรม ดังนี้

1.บ้านอ่าวอุดม มีท่าเทียบเรือที่มีการขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่ ท่าเทียบเรือบริษัท เจซีมารีน จำกัด ขนถ่านหิน ท่าเทียบเรือบริษัท สยาม คอมเมอร์เชียล จำกัด ขนกากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย เศษไม้ยูคาลิปตัส กะลาปล์ม ท่าเทียบเรือบริษัท เคอรี่ สยาม ซีพอร์ต จำกัด เศษไม้ยูคาลิปตัส ตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเทียบเรือขนส่งน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก

ทั้งหมดปล่อยมลพิษออกมาสู่อากาศ บางครั้งลมพัดเข้าสู่ชุมชนบ้านอ่าวอุดม ประชาชนได้รับความเดือดร้อนรำคาญ กระทบต่อสุขภาพ ร้องเรียนมายังคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ซึ่งได้มีมติให้ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และท่าเทียบเรือ ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อรับฟังเสียงประชาชน เปิดบ้านให้ประชาชนเยี่ยมชม ให้ตัวแทนของประชาชนตรวจสอบการทำงานได้ตลอดเวลา กำหนดให้ภาคประชาชน และภาคเอกชนเสนอแนวทางเพื่อปรับปรุงแก้ปัญหาร่วมกัน และให้มีการตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการของชุมชน เป็นต้น

2.ท่าเทียบเรือบริษัท เจซี มารีน จำกัด ท่าเทียบเรือบริษัท สยาม คอมเมอร์เชียล จำกัด และท่าเทียบเรือบริษัท เคอรี่ สยาม ซีพอร์ต จำกัด ร่วมกับผู้นำชุมชน 21 คน ตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมร่วมกัน กำหนดให้มีการนำทุกปัญหาที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพมาหารือในที่ประชุม และเสนอมาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว และกำหนดเป็นข้อตกลงร่วมกัน โดยท่าเทียบเรือยินดีให้ภาคประชาชนร่วมคิดเพื่อออกแบบสร้างหลังคาคลุมท่าเทียบเรือ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองจากการขนถ่ายสินค้า โดยมีกำหนดเวลาก่อสร้างที่ชัดเจน นอกจากนี้ ให้ภาคประชาชนส่งผู้แทนเข้าตรวจสอบการทำงานของท่าเทียบเรือตลอดเวลา เป็นต้น

3.ท่าเทียบเรือบริษัท เจซี มารีน จำกัด ท่าเทียบเรือบริษัท สยาม คอมเมอร์เชียล จำกัด และท่าเทียบเรือบริษัทเคอรี่ สยาม ซีพอร์ต จำกัด และผู้นำชุมชนบ้านอ่าวอุดม ตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อชุมชนอ่าวอุดมร่วมกัน โดยจดทะเบียนกองทุนกับส่วนราชการเสร็จแล้ว มีข้อกำหนดเบื้องต้น คือ ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่ 5 ปีขึ้นไป ได้รับสวัสดิการจากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้สูงอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเพิ่มเติมจากของภาครัฐ มีเงินสวัสดิการจากกรณีเด็กเกิดใหม่ และค่าทำศพสำหรับบุคลในพื้นที่ เป็นต้น คณะกรรมการที่ดูแลกองทุนกำหนดให้เป็นประชาชนในพื้นที่ และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบัญชี ซึ่งมีการตรวจสอบกันทุกเดือน

4.จากการดำเนินกิจกรรมร่วมกันดังกล่าว โดยไม่นำระเบียบราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจุบันพื้บ้านอ่าวอุดม ลดความขัดแย้งลงได้มาก ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีแต่พวกเราผู้ประกอบการและประชาชนทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ งานบุญประเพณีต่างๆ รวมทั้งงานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ท่าเทียบเรือ และประชาชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ทุกคนเป็นพวกเดียวกัน

5.ประชาชนในพื้นที่กำลังเรียกร้องให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทปิโตรเคมี เข้ามามีส่วนร่วมตามรูปแบบที่คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา กำหนดดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดข้อกังขาว่า มีการปกปิดข้อมูล หรือไม่สนใจเสียงของประชาชน หากโรงงานต้องการให้เกิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวอ้างไว้ ควรเชิญชุมชนเข้ามาหารือหรือเยี่ยมชม ดีกว่าที่ให้ชุมชนในพื้นที่ไปแอบดูแล้วมาประจานข้อบกพร่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น