xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านจี้จังหวัดเร่งคืนที่ดินทำกิน หลังรัฐยึดไปเกือบ 40 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - ชาวบ้านสิรินธรที่ถูก ออป.ประกาศเขตสัมปทานปลูกป่าทับที่ทำกินเกือบ 40 ปีจี้จังหวัดเร่งคืนที่ทำดิน หลังต่อสู้ตามกระบวนการมาร่วม 15 ปี

วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้าน อ.สิรินธร ประมาณ 100 คน นำโดยนายอาคม หอมแก้ว ราษฎรบ้านห้วยเดื่อ ต.โนนก่อ เรียกร้องให้นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐอำเภอสิรินธร ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินในเขต ต.โนนก่อ และ ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร พื้นที่กว่า 1,500 ไร่ กลับคืนมาเป็นของชาวบ้าน หลังองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ประกาศเขตสัมปทานปลูกต้นยูคาลิปตัสทับที่ดินทำกินมานานเกือบ 40 ปี

นายอาคมระบุว่า เมื่อปี 2517 ออป.ได้ประกาศเขตสัมปทานปลูกต้นยูคาลิปตัสทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน 99 ราย 79 แปลง เนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ โดย ออป.ได้จัดสรรที่ดินแบ่งให้เป็นที่อยู่อาศัยรายละ 1 ไร่ และรับชาวบ้านเป็นลูกจ้างดูแลสวนป่า

ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้คืนที่ดินให้ราษฎรที่มีหลักฐานชัดเจนในการเข้าครอบครองทำกินก่อนที่จะมีการประกาศเป็นที่ดินของหลวง ชาวบ้านทั้งสองตำบลที่สูญเสียที่ดินทำกินจึงได้รวมตัวเรียกร้องมาเป็นลำดับ จนปี 2551 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิด้วยภาพถ่ายทางอากาศ และตรวจสอบจากเอกสารการครอบครอง หรือการสอบพยานแวดล้อมบุคคล

นายอาคมกล่าวว่า คณะทำงานระดับอำเภอได้สรุปยืนยันข้อมูลตรงกันว่าราษฎรที่มีรายชื่อทั้ง 99 รายเป็นผู้ครอบครองที่ดินมาก่อน และได้สรุปความเห็นส่งถึงจังหวัดในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้จังหวัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดใหญ่ สั่งให้กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิแล้วมอบที่ดินคืนให้ชาวบ้านทั้งหมด แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านจึงมาทวงถาม หลังต่อสู้มาถึง 15 ปีแล้ว

ต่อมานายดิเรก ส่งเสริม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ประจำสำนักงานทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจังหวัด มาพบและชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรับรองผลการประชุมที่อำเภอส่งมา หากหน่วยงานใดไม่มีข้อสงสัยหรือโต้แย้ง ในเดือนพฤษภาคมนี้ก็สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาสั่งการคืนที่ดินทั้งหมดให้ชาวบ้านได้ทันที ทำให้ชาวบ้านพอใจ เดินทางกลับภูมิลำเนา


กำลังโหลดความคิดเห็น