เชียงราย - เวที “Eastern Lanna Economic Forum 2014-มหกรรมการค้าลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 3” เริ่มแล้ว กูรูแนะผู้ประกอบการ-หน่วยงานรัฐเร่งพัฒนาคุณภาพ-ลดต้นทุน-ปรับสายพันธุ์การผลิต และกระบวนการแทรกแซงราคา ย้ำอนาคตไทยผลิตอะไรได้ อีก 9 ประเทศก็ผลิตได้
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางธุรกิจ "Eastern Lanna Economic Forum 2014" ส่วนหนึ่งของมหกรรมการค้าลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุมดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท เชียงราย
โดยมีนายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย ในฐานะตัวแทนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน นำพาณิชย์จังหวัดจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ตัวแทนนักธุรกิจในภาคเหนือ พม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า เชียงรายเป็นเมืองเกษตรกรรม รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร แต่ก็มีภาคการค้าชายแดน การท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพสูง จึงต้องมีการพัฒนา เพื่อขยายประโยชน์ไปสู่ภาคประชาชนให้มากขึ้น โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาเอาไว้
ขณะเดียวกันทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีแนวคิดจะสร้างรถไฟรางคู่มาถึงเชียงรายอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศ ก็ให้ความสำคัญต่อการเป็นเมืองยุทธศาสตร์ของเชียงราย
ดังนั้น 17 จังหวัดภาคเหนือสามารถจับคู่ทางธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ประโยชน์จากช่องทางดังกล่าวได้ ในส่วนของจังหวัดฯ เองก็จะพยายามส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับ
นายเฉลิมพลกล่าวว่า ในอดีตเชียงรายเป็นจังหวัดห่างไกล และมีนัยว่าสินค้าอุปโภคบริโภคแพงเพราะต้นทุนค่าขนส่งสูง ส่วนผลผลิตทางการเกษตร ก็ไม่มีโรงงานแปรรูปรองรับ เพราะโรงงาน ตลาด ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลาง การส่งออกก็ห่างไกลท่าเรือเดินทะเล ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ต่ำ
แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นจังหวัดที่มีด่านการค้าชายแดนมากที่สุดถึง 5 ด่านถาวร และ 10 จุดผ่อนปรน เชื่อมโยงกับพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ เป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ของภูมิภาค และอยู่ในกรอบความร่วมมือหลากหลาย เช่น เออีซี จีเอ็มเอส บิมสเทค ฯลฯ
“ศักยภาพที่ว่านี้เริ่มบ่งชี้แล้ว เช่น เนื้อกระบือจากจีน ไก่แช่แข็งจากไต้หวัน ฯลฯ ถูกส่งเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านทางท่าเรือแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ต่อไปยังตลาดจีนตอนใต้ บอกถึงความสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจที่มีผลต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่จะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์หรือไม่ ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จึงได้จัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อสนับสนุน”
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เรื่องที่ตนอยากอธิบายคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งพูดกันมากมายจนเป็นกระแสไปทั่ว
ตนอยากจะบอกว่า แท้ที่จริงมีการทยอยลดภาษีกับกลุ่มอาเซียนมาได้กว่า 14 ปีแล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงสินค้าเกษตร 5 ชนิด ที่ลดเหลือเพียง 5% ที่เหลืออัตราภาษีเป็น 0% หมด จึงมีข้อถามว่าจะเอาเรื่องอะไรไปเข้าเออีซี
ดังนั้น เรื่องเออีซีจึงไม่ใช่เรื่องการพูดถึงอัตราภาษี แต่คือการศึกษาเงื่อนไขอื่นในอีก 9 ประเทศที่ไม่ใช่เรื่องอัตราภาษี เช่น กรณีเราผลิตลำไย หรือสับปะรดกระป๋อง ที่ผ่านการตรวจจากองค์การอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย แต่อาจจะไม่ผ่านของอีก 9 ประเทศก็ได้ เป็นต้น
“สิ่งเหล่านี้จะต้องศึกษาทั้ง 9 ประเทศเขาให้รอบคอบ”
นายพรศิลป์กล่าวอีกว่า มาตรฐานการค้าของผู้ประกอบการในอนาคตไม่ใช่เรื่องต้นทุนอีกต่อไป เพราะมาตรฐานประเทศหนึ่งอาจมีปัญหาในอีกประเทศหนึ่ง ตนจึงแนะนำให้ดูหลายเรื่อง ซึ่งค่อนข้างซับซ้อน เช่น คุณภาพ ลดต้นทุน ปรับสายพันธุ์ แทรกแซงราคา ฯลฯ
นายพรศิลป์ย้ำว่า หน่วยงานในประเทศไทยจะต้องร่วมกันทุกหน่วยไม่ใช่หน่วยงานพาณิชย์แห่งเดียว เพราะการรวมตลาดในเออีซีไม่ใช่การพาณิชย์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเมื่อผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าใดได้ด้วยต้นทุนใด ในอีก 9 ประเทศก็สามารถผลิต และนำเข้ามาได้เช่นกัน การบริโภคก็มีเหมือนกันด้วย
ทั้งนี้ “มหกรรมการค้าลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 3” นอกจากจะมีเวทีสัมมนาดังกล่าวนี้ ตลอดการจัดการตั้งแต่ 3-8 มิ.ย. ยังมีการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาด้านธุรกิจการค้า การเสวนา การสัมมนา และการจับคู่ทางธุรกิจ รวมทั้งมีมหกรรมสินค้า ณ สนามบินทหารอากาศ ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) อ.เมือง ภายในอาคารชั่วคราวหรือพาวิเลียน ติดเครื่องปรับอากาศด้วย