xs
xsm
sm
md
lg

หลัง คสช.สั่งปิด บุรีรัมย์เตรียมคุยเขมรตั้งเกณฑ์หวนเปิดจุดผ่อนปรนสายตะกู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์-ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์เรียกประชุมคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมลงพื้นที่หารือร่วมกับกัมพูชา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรการดูแลความเรียบร้อยในการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกูอีกครั้ง หลัง คสช.สั่งปิดเพื่อความมั่นคงภายในประเทศ หลังรัฐประหาร

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม ที่ห้องฝ้ายคำ ศาลากลางจังหวัด ชั้น 4

ทั้งนี้เพื่อร่วมหารือถึงแนวทาง เงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆ ก่อนจะเดินทางไปตรวจพื้นที่ และเจรจาหารือร่วมกับฝ่ายกัมพูชา ที่บริเวณช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด ในวันที่ 6 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกู-จุ๊บโกกี อีกครั้ง

หลังจากก่อนหน้านี้ได้ถูกสั่งปิดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ตามคำสั่ง คสช.ที่มีการประกาศเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ หรือรัฐประหาร ทำให้พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั้งสองฝั่งไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันได้ ส่งผลให้ขาดรายได้ หากผลการเจรจาในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ทั้งสองฝ่ายมีมติเห็นชอบและยอมรับตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดร่วมกัน ทั้งระยะแนวเขตพรมแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นแนวเขตสมมติ และการกลั่นกรองบุคคลเข้า-ออก เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกลุ่มคน หรืออาวุธสงคราม เข้ามาก่อเหตุความไม่สงบภายในประเทศในช่วงที่มีการรัฐประหาร ก็จะทำการเปิดจุดผ่อนปรนช่องสายตะกูตามปกติอีกครั้ง และขยายวันเพิ่มจาก 2 วันเป็น 3 วัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป เพราะที่ผ่านมาทั้งสองฝั่งได้มาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ล้านบาท จากที่เริ่มเปิดครั้งแรกมียอดค้าขายเพียงสัปดาห์ละ 3-4 แสนบาทเท่านั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์กล่าวว่า การเปิดจุดผ่อนปรนครั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าดำเนินไปตามปกติอย่างที่ผ่านมา ตามนโยบายของ คสช. ทั้งเชื่อว่าหากมีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกูดังกล่าว จาก 2 วันเป็น 3 วัน จะมีเงินสะพัดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนของทั้งสองฝั่ง ทั้งจะยังจะส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในอีกทางหนึ่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น