สุรินทร์- จังหวัดสุรินทร์ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง “โกลบอลเฮ้าส์” ถล่ม ระบุผนังกันสาดพังยาว 70 เมตร ไม่มีเสาเอ็นยึดกับคานตัวอาคาร ส่วนหลังคาโดมซุ้มประตูที่พังถล่มทับดับ 7 ศพ ไม่มีแมมเบอร์รับแรงกระแทก เผยลงพื้นที่เกิดเหตุเร่งรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานสรุปผลรายงานผู้ว่าฯ ใน 7 วัน
วันนี้ (15 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีหลังคาโดมซุ้มประตูทางเข้าออกห้างโกลบอลเฮ้าส์ สาขาสุรินทร์ ของบริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) พังถล่มเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย หนึ่งในนั้นเป็นหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือน 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย เหตุเกิดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหลังคาซุ้มประตูทางเข้าห้าง โกลบอลเฮ้าส์ สาขาสุรินทร์ พังถล่มเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 7 พ.ศ.2550 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.เมืองสุรินทร์ นายก อบต.เฉนียง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการโยธาธิการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์
ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง สภาพพื้นที่ สอบปากคำพยานบุคคล พยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ทราบภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันแต่งตั้ง
สำหรับการตั้งข้อสังเกตที่คณะกรรมการเห็นไปในทางเดียวกันหลังได้มีการขึ้นกระเช้าตรวจสอบ ผนังกันสาดอาคารโกลบอลเฮ้าส์ ซึ่งใช้กันฝน และลม หรือในทางช่างเรียกว่า พารเพลด ที่มีความสูง 3 เมตร ที่พังลงมามีความยาวประมาณ 70 เมตร ซึ่งเป็นเหตุทำให้หลังคาโดมซุ้มประตูทางเข้าห้างรองรับเศษอิฐหินปูนที่พังลงมาดังกล่าวไม่ไหวจนถล่มทับประชาชนเสียชีวิต และบาดเจ็บนั้น พบว่า ในช่วง 20 เมตรแรก มีเสาเอ็นยึดติดกับผนังกันสาด แต่หลังจากนั้นไม่พบว่ามีเลย
นายธนโชติ เกษตรสิงห์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า เท่าที่ดูผนังกันสาดจะต้องมีเสาเอ็นตลอดแนว และหากมีเสาเอ็นตลอดแนวเมื่อกำแพงพังลงมา มันร่วงจะทำให้ฉีกรูของคอนกรีตออกมา แต่ว่าตั้งแต่ 20 เมตรเป็นต้นไป ไม่พบว่ามีรอยคอนกรีตแตก และการกระชากออกจากคอนกรีตเลย และเป็นที่สังเกตว่า หลังคาตัวยูดังกล่าวไม่พบว่ามีขี้ปูนเหลืออยู่เลยระหว่างผนังกันสาดที่เชื่อมกับตัวคาน เหมือนกับนำผนังกันสาดไปแปะไว้เฉยๆ
ส่วนเหล็กข้ออ้อยที่ใช้เป็นเสาเอ็นโดยปกติต้องฝังลึกไปในคานตัวอาคารอย่างน้อย 30 เซนติเมตร (ซม.) แต่เท่าที่ตรวจสอบผนังในช่วง 20 เมตรแรกที่มีเสาเอ็น พบลึกลงไปประมาณ 10 ซม.เท่านั้น นอกจากนี้ หลังคาที่พังลงไปไม่มีแมมเบอร์รับแรงกระแทกอีกด้วย
“ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ส่วนการตรวจสอบในเชิงลึก หรือเชิงเคมี โดยการตรวจสอบการวิบัติของโครงสร้าง จะต้องใช้ผู้ชำนาญการทางด้านวิศวกรจากสถาบันต่างๆ ซึ่งอยู่ที่การดำเนินการในระดับชั้นการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องดำเนินการในเชิงลึกต่อไป” นายธนโชติ กล่าว
หลังจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดได้ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
ทางด้านตัวแทนบริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) สาขาสุรินทร์ ได้เข้ามายื่นหนังสือแสดงเจตจำนงมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ให้แก่นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าฯสุรินทร์ เพื่อทราบ รวมทั้งแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยบริษัทได้ช่วยเหลือค่าทำศพแล้วรายละ 5 หมื่นบาท และมอบเงินค่าทำขวัญให้แก่ผู้บาดเจ็บ 1 แสนบาท พร้อมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลจนกว่าจะหายเป็นปกติ และจะมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกรายละ 1 ล้านบาท นอกจากนั้น จะให้ความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา ของบุตรธิดาขอผู้เสียชีวิตไปจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีอีกด้วย