สุรินทร์ - งานศพ 3 พ่อแม่ลูกเหยื่อ “โกลบอลเฮ้าส์” สาขาสุรินทร์ถล่มเศร้าสลด ด้านวิศวกรโยธาและตำรวจเร่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานดำเนินคดีบริษัทฯ ข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เหตุสร้างผนังด้านบนตัวอาคารที่พังลงมาทับโดมทางเข้าถล่มดับ 6 ศพได้มาตรฐานหรือไม่ ชี้ไม่ได้เกิดจากฟ้าผ่า ด้านประกันสังคมเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเหยื่อ
วันนี้ (15 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 126 ม.9 บ้านหนองชูง ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ สถานที่จัดงานศพของ น.ส.สุทาทิพย์ อุกอาจ อายุ 33 ปี หญิงตั้งครรภ์ 3 เดือน นายจรัญ เพชรนอก อายุ 32 ปี สามี และ ด.ญ.มธุรส เพชรนอก อายุ 9 ขวบลูกสาว ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิต 3 ราย ในจำนวนทั้งหมด 6 ราย จากเหตุหลังคาโดมซุ้มประตูทางเข้าห้างโกลบอลเฮ้าส์ สาขาสุรินทร์ ของบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) พังถล่ม เมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น
บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าสลด มีบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมงานจากโรงงานผลิตชุดชั้นในที่สองสามีภรรยาทำงานอยู่มาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง หลายคนพากันร้องไห้เพราะยังทำใจไม่ได้
นางสงวน อุกอาจ อายุ 51 ปี แม่ของหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต กล่าวว่า ตนมีลูก 3 คน คนที่เสียชีวิตเป็นลูกสาวคนโต ขยันทำงานเป็นเสาหลักของครอบครัว ส่วนน้องอีก 2 คนยังไม่ได้ทำงาน ผู้ตายแยกไปมีครอบครัวใหม่และสร้างบ้านหลังเล็กๆ อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง เลขที่ 105 ม.3 บ้านโพธิ์กอง ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ วันเกิดเหตุจึงพากันไปซื้อวัสดุก่อสร้างมาตกแต่งบ้านเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่คิดว่าจะโชคร้ายเสียชีวิตพร้อมกันพ่อแม่ลูกทั้ง 3 คนขนาดนี้ รวมทั้งลูกในท้องด้วย
“ฉันรู้สึกเสียใจมากไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีก ขอฝากถึงบริษัทห้างร้านต่างๆให้ตรวจสอบโครงสร้างตึกอาคารให้ได้มาตรฐานและมีความมั่นคงแข็งแรง เพราะเกรงจะเกิดเหตุการณ์ร้ายเหมือนอย่างครอบครัวลูกสาวของฉันอีก ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือ” นางสงวนกล่าว
นายธนโชติ เกษตรสิงห์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยผลการเข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารโกลบอลเฮ้าส์ สาขาสุรินทร์ ที่เกิดเหตุพังถล่มว่า สำหรับสาเหตุของผนังกันสาดด้านบนหลังคาของอาคารพังลงมา เบื้องต้นน่าจะเกิดจากแรงดันจากด้านข้าง และผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุบอกว่าหลังคาถล่มในช่วงที่เกิดเสียงฟ้าผ่าลงที่ตัวโครงสร้าง
“เมื่อเราดูที่ตัวโครงสร้าง ถ้าจะอธิบายต้องบอกว่าเกิดจากแรงดันด้านข้างที่ดันผนังกันสาดพังลงมาด้านทิศใต้ หลังจากนั้นเศษความเสียหายก็ร่วงลงมาที่โครงหลังคาซุ้มประตูทางเข้าห้าง ที่ไม่ได้ออกแบบมาไว้เพื่อรองรับในส่วนของน้ำหนักกระแทกอยู่แล้ว จึงทำให้ตรงกลาง ตัวโครง ตัวเมนยุบลง พอยุบลงแล้วโครงสร้างเหล่านี้มันยึดกันหมด ก็ยิ่งทรุดไปใหญ่ ทำให้ประชาชนที่อยู่ด้านใต้ถูกเศษหินเศษโครงสร้างทับเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก” นายธนโชติกล่าว
ต่อข้อถามว่าผนังด้านบนตัวอาคารก่อสร้างถูกแบบหรือไม่ นายธนโชติกล่าวว่า จะถูกแบบหรือไม่ถูกแบบต้องไปดูว่าตอนที่ขออนุญาตมีแบบเป็นอย่างไรและใครเป็นผู้ออกแบบ โดยประเด็นความเสียหายจะต้องดูในส่วนของการออกแบบว่าเขาได้ออกแบบตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ รวมถึงขั้นตอนการควบคุมงานว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาหรือข้อกำหนดต่างๆ ที่ดำเนินการตามข้อกำหนดที่ไปยื่นต่อ อบต.เฉนียง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้ตรวจสอบเอกสารกับทาง อบต.เฉนียงว่าเป็นอย่างไร
ประกอบกับวัสดุที่ทำผนังด้านบนหลังคาเป็นอิฐมวลเบา ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 3 เมตร ส่วนสาเหตุความเสียหายจริงๆ ต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งอิฐมวลเบาสามารถนำมาก่อเป็นผนังได้ แต่ว่าในส่วนของการเสริมเสาเอ็นต่างๆ และการยึดติดกับโครงสร้างหลักต่างๆ ต้องขึ้นไปดู เพราะยังไม่สามารถขึ้นไปด้านบนได้ แต่ขึ้นไปได้แค่ชั้น 2 ก็ติดโครงฝ้าหลังคา จึงต้องใช้รถกระเช้าขึ้นไปตรวจสอบอีกครั้ง
ต่อข้อถามถึงสาเหตุการพังถล่มเกิดจากฟ้าผ่าตามที่มีการกล่าวอ้างตั้งแต่ต้นหรือไม่ นายธนโชติตอบอีกว่า เจ้าหน้าที่เราฟังมา 2 กระแส คือ อาจเกิดจากลม หรือจากฟ้าผ่า แต่ในลักษณะที่เห็นน่าจะเกิดจากแรงดันด้านข้างอัดเข้ามาและทำให้ผนังที่ก่อปิดหลังคาพลิกลงมาฝั่งด้านหน้า ซึ่งโชคดีที่ไม่พลิกไปฝั่งข้างในอาคารจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ และเท่าที่ตรวจสอบข้างในพบยังมีผนังบางส่วนที่มีรอยร้าวว่าจะสามารถซ่อมแซมใช้ต่อได้หรือไม่ หรืออาจต้องรื้อทำใหม่ แต่เท่าที่ดูด้วยสายตา โครงสร้างหลักและเสาของอาคารไม่ได้รับความเสียหาย มีเฉพาะผนังที่ก่อไปชนเสามีรอยร้าวบางส่วนเท่านั้น
ต่อข้อถามถึงโครงสร้างอาคารห้างโกลบอลเฮ้าส์ทั้ง 29 แห่งของ บริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่เหลือมีลักษณะเดียวกันหรือไม่ นายธนโชติ กล่าวว่า ต้องตรวจสอบอีกครั้ง ในส่วนการก่อผนังตัวปิดโครงหลังคาว่ามีการทำเสาเอนรับหรือโครงสร้างที่มารับแรงด้านข้างได้เพียงพอหรือไม่ เพราะเวลาออกแบบต้องเผื่อแรงลม และแรงลมก็มีค่ามาตรฐานของกฎกระทรวงอยู่ว่าอาคารขนาดนี้แรงลมต้องเท่าไหร่ ซึ่งวิศวกรที่ออกแบบได้ดำเนินการตามกฎข้อนี้หรือไม่
“หากเขาใช้ตามข้อกำหนดของการออกแบบแล้วถูกต้อง ก็ต้องมาดูในส่วนของการควบคุมงานอีกครั้งหนึ่งว่าในตอนการควบคุมงานเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบหรือเจ้าของแบบได้ออกแบบไว้หรือไม่ ซึ่งจะต้องดูทั้ง 2 ส่วน” นายธนโชติกล่าว
ด้าน พล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) สุรินทร์ กล่าวว่า ในเรื่องของการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเป็นคดีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้กองพิสูจน์หลักฐานร่วมกับโยธาธิการ เพื่อพิสูจน์ทราบว่าความบกพร่องอยู่ที่ใดจะได้ดำเนินคดีไปตามรูปการณ์ คือประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำนวน 6 ราย หรือไม่
“ส่วนความเสียหายอะไรต่างๆ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้เต็มที่ตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มาอยู่ที่เกิดเหตุทำงานกันอย่างเต็มที่” ผบก.ภ.จว.สุรินทร์กล่าว
ทางด้านนางอุสนีย์ ศิลปะศร ประกันสังคมจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เท่าที่สำนักงานประกันสังคมทราบข้อมูลมา มีผู้เสียชีวิตจำนวนรวม 6 คน กรณีเด็กในครรภ์เสียชีวิตประกันสังคมไม่ได้ให้การคุ้มครอง สำหรับผู้เสียชีวิต 6 ราย เป็นผู้ประกันตนจำนวน 5 ราย เสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน 3 ราย และกรณีเสียชีวิตไม่เกี่ยวกับการทำงาน 2 ราย ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม 2 ราย ซึ่งจะได้รับเงินทำศพรายละ 20,000 บาท
“ส่วนเงินสงเคราะห์ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินของผู้ประกันตน และจะได้เงินบำเหน็จชราภาพที่ได้ออมเอาไว้ขณะมีชีวิตอยู่ด้วย” ประกันสังคมจังหวัดสุรินทร์กล่าว
ส่วนกรณีการเสียชีวิตจากการทำงานได้รับเงินชดเชย 60% ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 8 ปี และเงินจัดการศพรายละ 30,000 บาท ซึ่งประกันสังคมจังหวัดสุรินทร์จะนำเงินไปมอบให้ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด พร้อมชี้แจงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานประกันสังคมจะเข้าไปดูแลผู้ประกันตนเป็นอย่างดี