อุดรธานี - ไม่จบ! อดีต ส.ส.ขี้ข้าทักษิณออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ป้อง “ปูโง่” นักสู้ประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุดรธานีรายงานว่า เย็นวันนี้ (7 พ.ค.) ที่สนามทุ่งศรีเมือง อ.เมืองอุดรธานี แกนนำคนเสื้อแดงอุดรธานีทั้งอดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่น ได้จัดตั้งเวทีปราศรัยโดยใช้ชื่อเวทีว่า “ปกป้องยิ่งลักษณ์ นักสู้เพื่อประชาธิปไตย” โดยขบวนการคนอีสานฯ โดยมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งมาร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ การปราศรัยเริ่มได้ไม่นานฝนก็ตกลงมาทำให้คนเสื้อแดงต่างพากันเดินทางกลับ โดยไม่รอรับฟังการอ่านแถลงการณ์ มีเพียงคนเสื้อแดงไม่กี่สิบคนร่วมรับฟัง
จากนั้นนายขจิต ชัยนิคม นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ นางเทียบจุฑา ขาวขำ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และนายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี พร้อมคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ โดยมีใจความว่า “ด้วยสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับขบวนการอำมาตยาธิปไตย
ซึ่งประกอบไปด้วยคณะบุคคล, บุคคล, องค์กร, สถาบัน และพรรคการเมือง โดยฝ่ายดังกล่าวได้สมคบคิดวางแผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ เพื่อโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย ทำลายอำนาจของประชาชน เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจให้อยู่ในมือขบวนการอำมาตย์ตน ด้วยความต้องการสถาปนาอำนาจอิทธิพลและผลประโยชน์ให้อยู่เหนือประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำฟ้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหาในประเด็นที่กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี มิชอบด้วยกฎหมายนั้น
ข้อเท็จจริงคือศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหาไม่อาจที่จะยื่นคำร้องในประเด็นของนายกรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากรับคำร้องไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดประเด็นการพิจารณาไว้ 3 ประเด็นซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง คือ ประเด็นในการวิจัย พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีก็สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่
ศาลฯ เห็นว่าแม้จะมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีจึงยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐธรรมนูญสิ้นสุดเฉพาะตัวได้ ศาลฯ จึงมีอำนาจในการรับคำร้องนี้
ประเด็นในการวินิจฉัยการกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2)(3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่ ศาลฯ เห็นว่า คำสั่งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี แม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มการดำเนินการ แต่ผู้ถูกร้องมีส่วนกระทำการในเรื่องนี้ด้วยหลายฝ่ายหลายประการการดำเนินการจนมีผลให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมข.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และมีการโยกย้าย
รวมทั้งการที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าถูกร้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ศาลฯ ยังระบุถึงการทำหนังสือโอนย้ายไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการตามปกติ และมีการแก้เอกสารเป็นการพิรุธอย่างโจ่งแจ้ง ศาลฯ เห็นว่าผู้ถูกร้องใช้อำนาจในตำแหน่งมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีวาระซ่อนเร้น
จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ที่เป็นเครือญาติของผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. การดำเนินการจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และเป็นการดำเนินการไปเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2)(3) จึงมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ ศาลฯ เห็นว่าเฉพาะคณะรัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมประชุมและลงมติโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 กันยายน 2554 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวไปด้วย
ในนามของขบวนการคนอีสานปกป้องประชาธิปไตยขอประกาศว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องเพราะศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาตัวเองและศาลสมคบคิดกับองค์กรอิสระอื่นและไม่มี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ฝักใฝ่ทางการเมืองและเล็งเห็นผลทางการเมืองให้ประโยชน์กับพวกอำมาตย์ เป็นศาลที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งขบวนการคนอีสานปกป้องประชาธิปไตย และเครือข่ายทั่วประเทศไทยขอประกาศว่า จะไม่ทนต่อความอยุติธรรมอีกต่อไป
เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีเจตนารีบเร่งในการวินิจฉัย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และถือเป็นการทำรัฐประหารโดยตุลาการ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้าร่วมกันรับผิดชอบกับผลคำตัดสินในครั้งนี้