กาฬสินธุ์ - กาฬสินธุ์เตรียมจัดโซนนิ่งทำการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ครอบคลุม 18 อำเภอ ยกระดับการผลิตสินค้าทางการเกษตรให้มีมาตรฐานและได้ผลผลิตตามเป้าหมาย โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา
นายสำนัก กายาผาด เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดที่ประกอบด้วยเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ และสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นเรื่องการดำเนินการที่สำคัญตามนโยบายการบริหารเขตเศรษฐกิจ
สำหรับพื้นที่เกษตรที่สำคัญ (Zoning) โดยประกาศเขตเหมาะสมภายใต้หลักวิชาการในการกำหนดพื้นที่ผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญ 20 ชนิด เพื่อจัดพื้นที่การผลิตสินค้าเกษตรในเขตเกษตรเศรษฐกิจทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์มีสินค้าเกษตรที่ได้รับประกาศเป็นเขตเหมาะสมที่สำคัญคือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปศุสัตว์ และประมง โดยเฉพาะด้านนาข้าวที่มีเนื้อที่ 1.8 ล้านไร่ อ้อยโรงงานมีพื้นที่ 7.5 แสนไร่ มันสำปะหลัง 3.8 แสนไร่
ส่วนการส่งเสริมด้านปศุสัตว์ คือ โคเนื้อ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และประมง คือ ปลานิล ปลาหมอ และกุ้งก้ามกรามอยู่ในพื้นที่ 135 ตำบลที่มีความเหมาะสมมาก
นายสำนักกล่าวอีกว่า ในการจัดโซนนิ่ง (Zoning) ดังกล่าวให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตรกรรม พร้อมทั้งเสนอแผนการส่งเสริมการผลิตในเขตเหมาะสม และปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าการเกษตรในเขตไม่เหมาะสม โดยมีการบริหารความสมดุลของสินค้าการเกษตรที่สำคัญเป็นพื้นฐานข้อมูลเพื่อใช้เตรียมการแก้ไขปัญหาการผลักดันสินค้าแต่ละชนิดในจังหวัด
ที่สำคัญจะดูแลเป็นพิเศษคือโครงการพัฒนาการเพิ่มมูลค่าข้าวเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือข้าวเหนียวเขาวง GI ที่ตอนนี้มีผู้ปลูกในระบบ 200 ราย เนื้อที่ 1,000 ไร่ โดยมีผลผลิต 420 ตันต่อปี
ขณะที่ข้าวอินทรีย์มี 50 โครงการ แต่ละโครงการมีเกษตรกร 20 ราย พื้นที่ 5,000 ไร่ ผลผลิต 1,850 ตันต่อปี ขณะที่อ้อยโรงงานมีเกษตรกรตั้งเป้าไว้มีผลผลิต 1,078,000 ตัน จำนวนเกษตรกร 18,000 ราย
สำหรับพื้นที่ปลูกในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมทำให้ผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ที่จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาเพื่อการแก้ไขความไม่สมดุลของการตลาดและผลผลิต
โดยเฉพาะเรื่องข้าวได้มีการจัดระบบปลูกข้าว โดยมีแนวทางการบริหารจัดการข้าวอย่างยั่งยืน โดยจัดกลุ่มชาวนาในจังหวัดปลูกข้าวตามความต้องการของตลาดและรวมตัวในรูปแบบสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้พร้อมรับการสนับสนุนจากทางราชการในด้านการเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งแหล่งปัจจัยการผลิตและแหล่งจำหน่าย