xs
xsm
sm
md
lg

ยันเขื่อนวชิราลงกรณไม่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว นักธรณีวิทยา ม.มหิดล ชี้แผ่นดินไหวภาคเหนือไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาญจนบุรี - ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ มั่นใจเขื่อนมีระดับมาตรฐานสากล สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7 ริกเตอร์ ยันแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ที่เชียงรายไม่กระทบเขือนกาญจน์ ด้าน “ดร.ปริญญา” นักธรณีวิทยา ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ชี้แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ทางภาคเหนือไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แนะตรวจสอบอาคารสูงอย่างจริงจัง

วันนี้ (6 พ.ค.) ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีวิทยา ประธานสาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย วัดความรุนแรงได้ 6.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ลึกลงไปจากผิวดิน 10 กิโลเมตร จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลาง เมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการศึกษาค้นคว้ารอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่ารอยเลื่อนแผ่นดินไหวนั้นใหญ่มากครอบคลุมไปทั้งทวีปอินเดีย ออสเตรเลีย มันเชื่อมกันอยู่เพราะข้างล่างมันเป็นแผ่น มันไม่ใช่รอยแยกแบบที่เราเห็นเป็นรอยเล็กๆ เหมือนรอยเลื่อนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

เช่น รอยเลื่อนบริเวณเกาะไอซ์แลนด์ แผ่นดินมันก็จะแยกกันกลางมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ทะเลลงไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร มันก็จะมีรอยแยกใต้พื้น ซึ่งแตกต่างกับรอยแยกของบ้านเรา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนธรรมดา ไม่ใช่รอยเลื่อนที่จะทำให้มีการเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงขนาดนั้น

ส่วนที่ใกล้บ้านเราที่สุด และสามารถทำให้แผ่นดินไหวได้ขนาด 8-9 ริกเตอร์ก็คือ รอยตะเข็บระหว่างอินเดีย-ออสเตรเลีย กับยูเรเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเราประมาณ 500 กิโลเมตร อยู่ในเกาะอันดามันนิโคบา ที่อยู่ระหว่างชายแดนพม่ากับประเทศอินเดีย ในทะเลอันดามัน มันเป็นเกาะในแนวเหนือใต้ ซึ่งเป็นเกาะภูเขาไฟ

ส่วนรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้บ้านเราเข้ามาอีกก็คือ รอยเลื่อนสะเกียง หรือที่พม่าเรียกว่ารอยเลื่อนสะกาย ที่อยู่แนวเหนือใต้ ซึ่งมันอยู่ระหว่างแนวตะเข็บธรณี รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนแบบเฉือนเลียบขวา คือ บล็อกที่อยู่ฝั่งตะวันตกมันเลื่อนไปทางซ้าย ส่วนที่อยู่ทางตะวันออกที่อยู่ทางฝั่งบ้านเรามันก็เคลื่อนที่ไปด้วยแต่มันเคลื่อนที่ช้ากว่า ที่สำคัญคือ ในรอยเลื่อนสะกายคุณภาพรอยเลื่อนมันเอียงไปทางตะวันตก เพราะฉะนั้นการเกิดแผ่นดินไหวมันก็จะเกิดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งประเทศพม่า ส่วนรอยเลื่อนในประเทศของเราเป็นรอยเลื่อนแขนง

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2554 เคยกล่าวในที่ประชุมเขื่อนศรีนครินทร์มาแล้วว่า จังหวัดทางภาคเหนือน่าเป็นห่วงที่สุดเกี่ยวกับโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เพราะว่าจังหวัดทางภาคเหนือของเรามันไม่มีอะไรกั้น ต่างจากพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีมหาสมุทรแปซิฟิกกั้นเอาไว้

อย่างรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เมื่อหลายปีมันเคยฉีกมาก่อน แต่โอกาสที่จะฉีกรุนแรงนั้นมีน้อยมาก เพราะข้างล่างมันมีรอยเลื่อนระนองคอยดันเอาไว้ซึ่งเป็นข้อดี ที่ผ่านมา ทางกรมทรัพย์ และมหาวิมยาลัยจุฬาฯ ได้เข้ามาปักจีพีเอสอยู่หลายแห่งที่บริเวณตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งเราได้เจาะบ่อบาดาลตลอดแนวของลำน้ำแควน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีบ่อน้ำร้อน ด้วยการวัดระดับอุณหภูมิของน้ำว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนั้น เราได้จับจีพีเอส สเตชัน เพื่อหาดูว่ามีสิ่งใดเคลื่อนไหวน่าผิดสังเกตหรือไม่ และอีกประเด็นคือ เราได้ขอแรงครู และนักเรียนที่ตั้งอยู่ตามแนวลำน้ำแควน้อยให้ช่วยกันสังเกตพฤติกรรมของสัตว์บ้าน รวมทั้งสัตว์ป่า ถ้าหากสัตว์มีพฤติกรรมอะไรที่ผิดปกติเราก็จะได้ดูว่ามีความสัมผัสกับวิบัติภัยในลักษณะนี้หรือไม่ ซึ่งมีกรณีเดียวที่เมืองเสฉวน ประเทศจีน เขาได้ศึกษาถึงพฤติการณ์ของสัตว์ ซึ่งสามารถอพยพผู้คนของเขาได้จำนวนหลายแสนคนก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในครั้งนั้น

“ประเทศไทยมีพุน้ำร้อนทั้งหมดประมาณ 95 บ่อ ส่วนทางภาคเหนือบ่อน้ำร้อนจะมีอุณหภูมิความร้อนสูงถึง 80-100 องศา ซึ่งสามารถต้มไข่ให้สุกได้เลย ส่วนทางภาคใต้ก็มีอุณหภูมิสูง 60-80 องศา สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี บ่อพุน้ำร้อนที่มีอยู่มีอุณหภูมิความร้อนบวกลบกันแล้วไม่เกิน 40 องศา ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะปกติ” ดร.ปริญญา กล่าว

ดร.ปริญญา กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลนี้ได้มาจากกรมทรัพย์ฯ โดยอุณหภูมิที่เกิดขึ้นตามบ่อพุน้ำร้อนต่างๆ นั้นก็มาจากการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจากการเปรียบเทียบสถิติการเกิดแผ่นดินไหวพบว่า ทางภาคเหนือจะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยมาก และมีโอกาสสูญเสียอย่างแน่นอน และการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และอาจจะเกิดรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งศึกษากันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างอาคารสูง หรือพื้นที่ที่มีอาคารสูงอยู่แล้วจะต้องเร่งตรวจสอบความแข็งแรงคงทนของอาคารเพิ่มขึ้น

สำหรับพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โอกาสการเกิดแผ่นดินไหวนั้นค่อนข้างจะนิ่ง เพราะว่ารอยเลื่อนที่มีอยู่มันไม่สามารถเคลื่อนไปไหนได้ เนื่องจากมีรอยเลื่อนระนองดันอยู่ข้างล่าง แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสหรือไม่ตอบได้เลยว่า อนาคตมีแน่นอนแต่ก็คงอีกหลายชั่วอายุคน

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า จากการเจาะหลุมสำรวจ และติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และที่บริเวณบ่อพุน้ำร้อน วัดวังขนาย อ.ท่าม่วง ซึ่งจุดนั้นเป็นแขนงของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ หลังจากเจาะเราได้วัดดูว่าความร้อนเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และดูว่าระดับน้ำเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งเท่าที่สังเกตมา 6 ปีกว่า อุณหภูมิของน้ำ และค่าของน้ำก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแต่อย่างใด และเรายังมีสถานีวัดพิกัดดาวเทียม เพื่อติดตามดูว่าทั้ง 2 รอยเลื่อนมีการเคลื่อนไหวหรือไม่อย่างไร

จากการตรวจสอบเราไม่พบเลยว่ารอยเลื่อนทั้ง 2 ไม่มีการขยับตัวแต่อย่างใด และเราได้ขุดหาร่องรอยของการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต ปรากฏพบว่า บริเวณรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6-7 ริกเตอร์มาแล้ว ซึ่งแบ่งเป็น 3 คลาสเตอร์ คือ คลาสเตอร์ที่ 1 เคยเกิดมาแล้วประมาณ 2 แสนปี คลาสเตอร์ที่ 2 ประมาณ 2 หมื่นปี และ 2 พันปี

ในกลุ่มนี้จะเจอน้อย ซึ่งเราเจอที่บริเวณศูนย์กักกันสัตว์เกษตรที่สูงใกล้ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี เราสามารถสรุปได้เลยว่าโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีนั้นไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวไม่ต้องตื่นตระหนกแต่อย่างใด และขอให้สบายใจได้

ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณมั่นในใจ
เขื่อนระดับมาตรฐานสากล

ด้านนายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค.57 เวลา 18.08 น.ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลทรายชาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย พบว่า จุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเขื่อนแม่จาง จังหวัดลำปาง 155 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 232 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก 282 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี 591 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนวชิราลงกรณ ประมาณ 555 กิโลเมตร ตำแหน่งการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ Latitude 19.68 องศาเหนือ Longitude 99.69 องศาตะวันออก

จากการตรวจสอบเขื่อนของ กฟผ.ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เนื่องจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างไกลเขื่อน ส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวส่งแรงมาที่เขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ออกแบบมาก จึงไม่มีผลกระทบต่อทุกเขื่อนของ กฟผ.

นอกจากนี้ เขื่อนของ กฟผ.ยังได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่เขื่อน ขนาด 7.0 ริคเตอร์ จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยว่า เขื่อนของ กฟผ.มีประสิทธิภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล และมีการดำเนินการตรวจสอบ และบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัยของเขื่อนอย่างมีระบบ และต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าเขื่อนทุกเขื่อนของ กฟผ.มีความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งาน และมีความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างแน่นอน

ทางด้านนายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.57 เวลา 18.08 น. ขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ แม้ว่าจะรับรู้แรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่

แต่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ทำการตรวจสอบแล้วไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แม้ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ ก็ตาม แต่เนื่องจากระยะทางไกลจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ มากกว่า 200 กิโลเมตร ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี วางใจได้ ทางเขื่อนมีการติดตามข้อมูล เฝ้าระวัง และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น