xs
xsm
sm
md
lg

คนเมืองดอกบัวหวังเป็นทีวีดิจิตอลชุมชนแห่งแรกของประไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - คนอุบลราชธานี ร่วมนักวิชาการ สื่อภาคพลเมือง ผลักดันให้เกิดทีวีดิจิตอลชุมชนนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรับรู้ข่าวสาร เป็นห้องเรียนทางอากาศให้ชุมชน

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องทับทิมสยาม 4 ชั้น 5 โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเทล คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มูลนิธิสื่อสร้างสุขจัดเวทีเตรียมความพร้อมทีวีดิจิตอลชุมชน โดยการสนับสนุนของโครงการสะพานโดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID)

โดยมี น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บรรยายให้ความรู้หัวข้อ “ทีวีดิจิตอลชุมชนที่อยากเห็น” และร่วมรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายร่วมเสนอความเห็นในหัวข้อเดียวกันจากตัวแทนภาคประชาชน

เช่น นายธีระพล อันมัย อาจารย์หลักสูตรนิเทศศาสตร์ (การประชาสัมพันธ์) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายนพพร พันธุ์เพ็ง นักสื่อสารมวลชน น.ส.คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ตัวแทนเด็กเยาวชน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ทีวีชุมชนจะเกิดขึ้นได้จริงไม่ช้านี้ ถ้าอุบลราชธานีจะเป็นพื้นที่นำร่องทีวีดิจิติลชุมชน พร้อมสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลาเปลี่ยนผ่านนานกว่า 12 ปี

และเมื่อเป็นทีวีดิจิตอลประชาชนจะได้ประโยชน์ มีทางเลือกในการรับชมข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น โดยประเทศไทยเพิ่มช่องส่งสัญญาณจากเดิมเป็น 48 ช่อง แบ่งเป็นช่องรายการสำหรับบริการทางธุรกิจ 24 ช่อง บริการทางสาธารณะ 12 ช่อง บริการชุมชน 12 ช่อง ซึ่งเป็นไปตามตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

“แต่ประเทศไทยคงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านสักระยะหนึ่ง” น.ส.สุภิญญากล่าว

ด้านนายธีระพล อันมัย อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความเห็นว่า การทำทีวีดิจิตอลชุมชนต้องอาศัย 5 องค์ประกอบ คือ 1.บุคลากร ต้องมีบุคลากรอยู่ประจำ เพื่อดำเนินการ และมีชาวบ้านที่มีอุดมการณ์ มีจิตอาสา ที่จะทำงานร่วมกัน 2.การบริหารจัดการ ต้องดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เช่น การบริหารจัดการผังรายการ ร่วมผลิตรายการ บริจาคสมทบทุน

3.เนื้อหา เนื้อหาหลักที่ผู้ชมต้องการชม ปฎิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเป็นทีวีชุมชน กลุ่มเป้าหมายต้องการชมเนื้อหาที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เรื่องราวภายในชุมชนที่เกิดขึ้นจริง เป็นหัวใจหลักในการดึงคนเข้ามาชมทีวีชุมชน 4.ด้านเทคนิค คือ การผลิตรายการ การรายงานข่าว ภาษาที่ใช้ในการรายงาน คนที่จะมาร่วมทำทีวีชุมชนต้องมีความชำนาญในด้านเทคนิคการตัดต่อ ง่ายต่อการทำงาน 5.งบประมาณ เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ทีวีชุมชนจะอยู่ได้ต้องอาศัยเงิน การหาทุนจากการบริจาค จากแฟนคลับ หน่วยงานรัฐ เอกชน มาร่วมสมทบทุน แต่อย่าให้มาครอบเนื้อหาที่ทำ

สำหรับนายนพพร พันธุ์เพ็ง นักสื่อสารมวลชน มีความเห็นเช่นเดียวกับนายธีระพล ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง 5 และที่สำคัญประเด็นปัญหาต้องแม่น ทีวีธุรกิจเห็นผู้ชมเป็นลูกค้า ต้องทำตามความต้องการของผู้ชม แต่ทีวีชุมชนมองประชาชนเป็นพลเมือง นำเสนอในสิ่งที่ประชาชนควรรู้ ต้องรู้ ต้องทำให้ชุมชน ประชาชน เกิดความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

“มีอำนาจต่อรองทางสังคม ต้องทำทีวีชุมชนเป็นห้องเรียนทางอากาศให้ชาวบ้านรู้ทันเหตุการณ์บ้านเมือง”

ส่วนนายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เสนอความเห็นหัวใจหลักของทีวีชุมชน ต้องให้ชัดประชาชนจะใช้ประโยชน์อะไรจากทีวีช่องนี้ ทีวีช่องนี้จะทำหน้าที่อะไร แล้วร่วมกันสร้างให้เกิด

สำหรับคนที่จะมาทำทีวีชุมชน ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นใหม่มีพลังในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่าน ยุคของการแข่งขัน คนทั้ง 2 รุ่น จึงต้องทำงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทีวีชุมชนต้องเป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพชุมชน เชื่อมการเรียนรู้ในระดับชุมชน และระดับโลก

ขณะที่ น.ส.คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง สะท้อนว่าทีวีชุมชนเป็นพื้นที่นำเสนอเรื่องราวในชุมชน วิถีชีวิต ประเพณีท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน สะท้อนปัญหา ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ อีกทั้งเป็นเวทีสาธารณะให้ชาวบ้านได้แสดงออก เสนอความคิดเห็น ให้เกิดการแก้ไข ทีวีชุมชนช่วยลดความขัดแย้งสร้างความเข้าใจ จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในอนาคต

ด้านตัวแทนเยาวชน นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ตัวแทนเด็กและเยาวชน เสนอความเห็นว่า ทีวีชุมชนต้องเป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กและเยาวชน เป็นพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน แสดงศักยภาพให้ผู้ใหญ่ในสังคมรับรู้ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมั่นคงและถูกทิศทาง

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ มีการรวบรวมหัวข้อคำแสนอแนะเพื่อนำไปสู่การเป็นทีวีดิจิตอลชุมชนของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น