ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มต้านเหมืองโปแตซอุดรธานีโวย กพร.หมกเม็ดดันตั้งกรรมการผู้มีส่วนได้เสียเหลังอีเอชไอเอผ่าน ทั้งที่ชาวบ้านยื่นรายชื่อกว่า 5,000 รายชื่อคัดค้านการขอประทานบัตร จี้ยกเลิกคำสั่ง เหตุคณะทำงานชุดเก่ายังศึกษาประเด็นปัญหาไม่ได้ข้อสรุป
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ประมาณ 100 คนเข้ายื่นหนังสือต่อนายพัตทอง กิตติวัฒน์ รักษาราชการแทนอุสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อคัดค้านคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการประชุมเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี
ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้มีคำสั่งที่ 72/2557 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น ตามมาตรา 88/9 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 เพื่อมาทำหน้าที่คัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในเขตคำขอประทานบัตร จัดประชุมตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย และดำเนินการตามกระบวนการตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัย รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในการทำเหมืองแร่ใต้ดิน ตามมาตรา 88/10 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน
หลังจาก กพร.ได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ให้เหตุผลในการคัดค้านว่า เป็นคำสั่งที่หมกเม็ด ไม่โปร่งใส เนื่องจากชาวบ้านได้รวบรวมรายชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 1,580 แปลง และรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียภายในขอบเขตพื้นที่โครงการ 5,765 รายชื่อ ยื่นโต้แย้งคัดค้านคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี คำขอที่ 1-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กำหนด และมีการติดตามผลการยื่นโต้แย้งคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งได้มีบันทึกการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ระหว่าง กพร.กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี โดยการทำข้อตกลงร่วมกัน 2 ข้อ ได้แก่ ข้อ 1. ให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กพร.และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องการไต่สวนพื้นที่ รายละเอียดต่างๆของแผนที่ประกอบคำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547 และหารือประเด็นข้อกฎหมายในการดำเนินงานตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน ตามมาตรา 88/9 ให้ได้ข้อยุติ
2. กรณีข้อ 1. ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันให้ชะลอการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 88/10 และในการขอความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตร
นายบุญเลิศ เหล็กเขียว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า กพร.ได้ละเมิดข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กพร.กับกลุ่มอนุรักษ์ เนื่องจากคณะกรรมการศึกษาติดตาม กระบวนการขออนุญาตประทานบัตร โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่งตั้งชุดก่อน (คำสั่งที่ 77/2555 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555) ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกเพื่อเดินหน้าต่อในขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร โดยฟังไม่เสียงคัดค้านของชาวบ้าน ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และยิ่งจะนำพาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ระลอกใหม่เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน
"ขอให้มีการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่มีอยู่ระหว่างกพร.กับกลุ่มอนุรักษ์ทำหน้าที่จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งปัญหาเก่าตามที่ชาวบ้านคัดค้าน ในมาตรา 49 ของกฎหมายแร่ กพร.ก็ยังไม่มีคำตอบ แล้วยังจะเอาปัญหาใหม่มาให้ชาวบ้านอีก"
ด้านนายพัตทอง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดการประชุมเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ชี้แจงว่า ตามขั้นตอนเมื่อสผ.ได้ผ่านความเห็นชอบรายงานอีเอชไอเอ แล้วแจ้งเรื่องมาทางอธิบดีกพร. ตามหนังสือ คือ วันที่ 20 มกราคม 2557 ตามกรอบกฎหมาย กพร.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการประชุมเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียขึ้นมา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และส่วนราชการในจังหวัดรวมแล้ว 14 คน
ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ก็จะมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านไปคัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในเขตคำขอประทานบัตร หมู่บ้านละ 2 คน และแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตคำขอประทานบัตรคัดเลือกตัวแทนหน่วยงานละ 2 คน เมื่อได้ตัวแทนแล้วคณะกรรมการก็จะมาทำหน้าที่จัดการประชุม
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์ในประเด็นนี้ ก็จะรเสนอต่อผู้ว่าราชการลงนามถึงอธิบดีกพร.เพื่อพิจารณาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งระหว่างนี้จะเสนอให้มีการชะลอการทำหน้าที่ของคณะกรรมการออกไปก่อน คือ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะได้รับคำตอบจากกพร.