ศูนย์ข่าวศรีราชา - 3 กระทรวง ร่วมจัดอบรมหลักสูตร “การทำจิตสังคมบำบัดในสถานศึกษา” ใน จ.ชลบุรี เพื่อให้มีการป้องกันเฝ้าระวัง และช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่โรงแรมเดอะเซส บางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร “โปรแกรมจิตสังคมบำบัดในโรงเรียน สำหรับครู” โดยมีครูอาจารย์จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 จากโรงเรียนมัธยมศึกษาขยายโอกาส ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1, 2, 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยเทคนิค รวม 100 คน เข้าร่วมประชุมเป็นเวลา 3 วัน
นายชัญชาญ ช่วยโพธิ์กลาง สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชน ที่เป็นกำลังสำคัญ และเป็นอนาคตของชาติ ด้วยการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการป้องกัน เฝ้าระวัง และดูแลช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อให้มีการป้องกันเฝ้าระวังและดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในรูปแบบที่เหมาะสมในบริบทของสถานศึกษา
การอบรมครั้งนี้เพื่อนำรูปแบบมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา เพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในรูปแบบที่เหมาะสม และสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ดังนั้น การให้ความรู้ครู บุคลากรทางการศึกษา บุคคลที่เกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีแนวทางการดำเนินงานต่อนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหาและคัดกรอง ทั้งภายในสถานศึกษา และพื้นที่เสี่ยงรอบสถานศึกษา
นายชัญชาญ กล่าวว่า หากพบนักเรียน นักศึกษาที่เสพยาเสพติด ควรนำนักเรียนเข้าสู่กระบวนการจิตสังคมบำบัดในสถานศึกษา ร่วมติดตาม ดูแลช่วยเหลือ และให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาที่ผ่านการบำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพเข้ารับการศึกษาต่อ และพร้อมติดตามดูแลช่วยเหลือรวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ และหากเกินขีดความสามารถให้ประสานส่งต่อให้หน่วยงานอื่นๆ ที่รับผิดชอบต่อไป
สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดนั้นน่าเป็นห่วง โดยชุมชนยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นไปได้จะแพร่ระบาดเข้าสู่สถาบันการศึกษาในกลุ่มนักเรียน และนักศึกษาอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ทุกหน่วยงานในสถานศึกษาจะต้องเฝ้าระวังดูแล ส่วนภายนอกนั้น เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะต้องปราบปรามให้หมดไป โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจในการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และจริงจัง เพราะในอนาคต 100 คน จะติดยาไอซ์ 10-20 คน
นายชัญชาญ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาในแต่ละโรงเรียน ประกอบด้วย นักเรียนติดเหล้าบุหรี่ ชู้สาว สื่อลามก เกม การพนัน หนีเรียน ทะเลาะวิวาท และฟุ่มเฟือย แต่ปัจจุบันนี้ระบบออนไลน์ก็เป็นการส่งสารที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น