ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของใครต่อใคร เป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเสมอๆ เมื่อได้รับรู้รับฟัง โดยเฉพาะเมื่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของใครที่ว่านั้น มันแลกมาด้วยช่วงเวลาที่ต้องฝ่าฟันผ่านพ้น และนี่ก็คือหนึ่งแง่มุมสำคัญที่เราสามารถสัมผัสได้อย่างเด่นชัดในหนังดีๆ อย่าง Saving Mr. Banks
สำหรับคนที่สนใจในโลกแห่งการอ่าน น่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ “แมรี่ ป๊อปปิ้นส์” วรรณกรรมเยาวชนระดับเวิลด์คลาสที่ครองใจผู้อ่านมายาวนานเกินกึ่งศตวรรษ นิยายจากปลายปากกาของนักเขียนหญิงชาวอังกฤษ “พี. แอล. เทรเวอร์ส” เรื่องนี้ ได้รับการถ่ายทอดสู่ฉบับภาพยนตร์และออกฉายในปี 1964 เกร็ดประวัติที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือว่า กว่าที่วรรณกรรมอมตะเรื่องนี้จะขึ้นไปอยู่บนจอเงิน มันต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี เหตุผลสั้นๆ ก็คือ ไม่ว่าทางค่ายหนังอย่างวอลท์ ดิสนีย์ จะตามตื๊อขอซื้อลิขสิทธิ์อย่างไร แต่ทางฝั่งนักเขียนนิยายอย่างเทรเวอร์ส ดูจะไม่แฮปปี้กับการให้ลิขสิทธิ์ไปทำหนัง
เท่าที่ปรากฏหลักฐาน เพราะเหตุผลว่าเทรเวอร์ส ไม่ปรารถนาจะเห็นนิยายของตัวเองกลายไปเป็นตัวการ์ตูนในแบบของวอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งความจริงข้อนี้ก็ถูกถ่ายทอดผ่านหนังอย่าง Saving Mr. Banks เช่นเดียวกัน ทีนี้ ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า แล้วเพราะอะไร หลังจากใจแข็งมายาวนานนับ 20 ปี แต่สุดท้าย เทรเวอร์สจึงปล่อยให้นิยายเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในจักรวาลของวอลท์ ดิสนี่ย์ ได้
จะว่าไป Saving Mr. Banks ก็คล้ายๆ การผจญภัยรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ไม่ใช่การผจญภัยในแบบแฟนตาซีที่ต้องพบเจอกับบรรดาตัวประหลาดมากอิทธิฤทธิ์ หากแต่นี่คือการผจญภัยของ “วอลท์ ดิสนีย์” กับการยืดหยัดเพื่อที่จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของเรื่องแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ แน่นอนว่างานนี้ไม่หมู เพราะเทรเวอร์สนั้น ดูเหมือนจะตั้งกำแพงไว้สูงลิบกับวอลท์ ดิสนีย์
Saving Mr. Banks จับเอาช่วงเวลาสำคัญ ภายหลังการเจรจาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาไม่เป็นผล พี. แอล. เทรเวอร์ส ถูกโน้มน้าวอีกครั้งให้เดินทางอังกฤษเพื่อไปศึกษาดูงานของวอลท์ ดิสนีย์ ที่อเมริกา หนังคล้ายจะเล่าว่า ด้วยภาวะบีบคั้นทางการเงิน คือเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้เทรเวอร์สตกลงเดินทางไปอย่างเสียไม่ได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นแค่การ “ดูงาน” และ “ทดลองทำงาน” ร่วมกับวอลท์ ดิสนีย์ โดยที่ลิขสิทธิ์นิยายยังไม่ถูกเซ็นมอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แน่นอนครับ เรารู้ผลลัพธ์กันอยู่ว่าสุดท้ายแล้วนั้น วอลท์ ดิสนีย์ ก็ได้ลิขสิทธิ์ แต่ความสนุกของหนังมันคือช่วงเวลาระหว่างที่เทรเวอร์สไปเยือนถิ่นดิสนีย์นี่ล่ะ ซึ่งสามารถพูดได้ว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤติแบบสุดๆ ของสุภาพบุรุษนักฝันอย่าง “วอลท์ ดิสนีย์” ที่จะต้องใช้ความพยายามที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อโน้มน้าวใจของเทรเวอร์สให้เธอรู้สึกให้ได้ว่า วอลท์ ดิสนีย์ จะไม่ทำให้นิยายดีๆ ของเธอเสียหายอย่างที่เธอกังวลมาโดยตลอด
หลายคนถามว่ามันคือหนังชีวประวัติของผู้ก่อตั้งค่ายการ์ตูนอย่าง “วอลท์ ดิสนีย์” ใช่หรือเปล่า? ถ้าจะให้ตอบก็คงจะบอกว่าทั้งใช่และไม่ใช่ ที่ว่าใช่ก็เพราะมันคือเรื่องราวช่วงหนึ่งของชีวิตวอลท์ ดิสนีย์ และที่บอกว่าไม่ใช่ เพราะถ้าจะวัดกันแบบปอนด์ต่อปอนด์จริงๆ Saving Mr. Banks ควรได้รับการประทับตราว่าเป็นหนังที่ว่าด้วยประวัติชีวิตของ “พี. แอล. เทรเวอร์ส” และเมื่อพินิจจากสิ่งที่หนังนำเสนอ เราจะได้ค้นพบว่าเรื่องราวชีวิตของเทรเวอร์สนี้เองที่เป็นดั่ง “สารตั้งต้น” หรือที่มาที่ไปของนิยายเยาวชนสุดอมตะอย่างแมรี่ ป๊อปปิ้นส์
นั่นหมายความว่า ขณะที่กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างเทรเวอร์สกับทีมงานของดิสนีย์ในการเขียนบทดำเนินไป หนังจะตัดสลับกับการเล่าย้อนไปยังชีวิตในวัยเยาว์ของเทรเวอร์สในช่วงที่ครอบครัวของเธอต้องประสบวิกฤติอันหนักหน่วง ไฮไลท์ของครอบครัวนั้นอยู่ที่พ่อของเธอซึ่งแม้จะเป็นคนติดเหล้า แต่ก็ดูจะมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวอย่างเปี่ยมล้น ท่ามกลางบรรยากาศครอบครัวลุ่มๆ ดอนๆ พ่อของเทรเวอร์สเป็นดั่งแสงไฟและลมใต้ปีกที่คอยปลุกเร้าพลังความคิดฝันและจินตนาการ อันนับเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญต่อการเป็นนักประพันธ์ของเทรเวอร์สในเวลาต่อมา และเหนืออื่นใด ตัวละครอย่างมิสเตอร์แบงก์สในนิยายเรื่องแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ จะอ้างอิงถึงใครอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่พ่อของเทรเวอร์ส
ในความเป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานวรรณกรรมซึ่งคลุกคลีอยู่กับการใช้สอยถ้อยคำภาษา ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ของผู้กำกับจอห์น ลี แฮนค็อก มีการเล่นกับ “ถ้อยคำ” ในเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างมีชั้นเชิง คำหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ ในหนัง ไม่ควรฟังแบบผ่านๆ คือคำว่า “Responsible” (รับผิดชอบ) คำนี้ปรากฏตัวในหนังหลายจุด เสียงดังที่สุดก็ตอนที่เทรเวอร์สทำงานเขียนบทร่วมกับทีมของดิสนีย์ ทีมงานใช้คำว่า “Responsible” นี้ในช่วงการประพันธ์เพลง แต่เทรเวอร์สพูดออกมาว่ามันไม่ใช่แค่เพียงถ้อยคำ เราจะพบความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำพูดนี้ของเทรเวอร์สเมื่อหนังเล่าย้อนกลับไปถึงเรื่องพ่อของเธอ ดังนั้น ด้วยเจตนาจงใจของหนัง คำว่า “รับผิดชอบ” จึงไม่ได้มีคุณค่าแค่ในเชิงถ้อยคำ หากแต่สะท้อนถึงภารกิจของชีวิตที่ควรจะมี และยิ่งไปกว่านี้ ความพยายามของผู้ชายอย่างวอลท์ ดิสนีย์ ที่มุ่งมั่นเพื่อจะได้ลิขสิทธิ์นิยายมาทำหนัง ก็มีเรื่องราวเบื้องหลังที่เขาแบกรับและต้องทำให้มันสำเร็จ
หลังจากดูหนังจบ ผมค่อนข้างประหลาดใจว่าทำไม หนังไม่ได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาหนังยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับการแสดงของเอ็มม่า ธอมป์สัน กับบทพี.แอล.เทรเวอร์ส ที่ก็น่าจะได้เข้าชิงในสายนักแสดงนำหญิง บทบาทนี้เป็นบทที่เปี่ยมด้วยสีสัน หลากอารมณ์ ทั้งจ่อมจมกับความเศร้าในวันวานอย่างน่าเห็นใจ บางเวลาน่ารักแต่บางครั้งก็ดูคล้ายไม่น่าคบหาเพราะความวีนเหวี่ยงเอาแต่ใจ แต่เหนืออื่นใด มันมีความลึกในคาแรคเตอร์ที่สามารถนำพาอารมณ์คนดูให้รู้สึกร่วมไปกับเธอ ทั้งสุขและโศก ส่วนทอม แฮงก์ กับวอลท์ ดิสนีย์ ที่ดูเหมือนจะแรงสู้เอ็มม่าไม่ได้ แต่ฉากท้ายๆ ของเรื่องตอนที่วอลท์ ดิสนีย์ ไปพูดกับพี.แอล.เทรเวอร์ส ถึงบ้านเกิดเมืองนอน มันทำให้ภาพนักแสดงมืออาชีพของทอม แฮงก์ ฉายแสงขึ้นมาอย่างเจิดจ้า จะกล่าวเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ว่า นี่คืออีกหนึ่งฉากการแสดงที่น่าจดจำมากที่สุดในชีวิตของ “สุภาพบุรุษนักแสดง” ที่ชื่อทอม แฮงก์ คนนี้
ในความเป็นภาพยนตร์ “เซฟวิ่ง มิสเตอร์ แบงก์ส” ให้กับคนดูได้ ผมคิดว่าไม่ขาดตกบกพร่องในแง่ของความสนุก น่าติดตาม ความบันเทิงที่มีทั้งตลก โศก และสุข ครบรส แต่ที่มากกว่านั้น คือแก่นสารสาระของหนังที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้น แล้วแต่ใครจะสนุกคิดและตีความ คนคนหนึ่งอาจมองเห็นด้านที่งดงามเกี่ยวกับจิตวิญญาณความเป็นพ่อที่ไม่ย่อท้อต่อโลกอันน่าท้อแท้ พ่อของเทรเวอร์สที่แม้จะขี้เมา แต่เขาก็พยายามปกป้องโลกของลูกให้งดงามด้วยความคิดฝัน ดังนั้น จึงพูดได้ว่า ขณะที่เทรเวอร์สพยายามจะ “เซฟ” นิยายชีวิตของมิสเตอร์แบงก์สไว้ไม่ให้วอลท์ ดิสนีย์ เอาไปทำหนัง “มิสเตอร์แบงก์ส” ก็ได้เซฟจินตนาการอันสวยงามของเธอไว้จากสภาวะเลวร้ายของโลกที่รุมล้อมในวัยเยาว์
เอาเข้าจริง เรื่องราวทั้งในส่วนของเทรเวอร์สและวอลท์ ดิสนีย์ ต่างก็สะท้อนซึ่งกันและกันอยู่ในที เพราะในขณะที่พี.แอล.เทรเวอร์ส มีพ่อเป็นดั่งรากฐานให้กับชีวิต วอลท์ ดิสนีย์ ในฐานะของพ่อ ก็พยายามสานต่อความฝันของลูกในวัยเด็ก แม้วันเวลาจะผ่านไปและมีความยากเย็นเพียงใดในการทำให้สำเร็จ แต่วอลท์ ดิสนีย์ ก็ไม่เคยหยุดยั้งความพยายาม หนังมีแง่มุมรองๆ เล็กๆ อีกอันหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับพ่อของวอลท์ ดิสนีย์ ที่ก็น่าสะเทือนใจไม่แพ้เรื่องของเทรเวอร์สแม้แต่น้อย นั่นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเพราะอะไร สองคนนี้ถึงได้มาเจอกัน
เพราะทั้งสองต่างก็มีส่วนเกื้อกูลกันและกัน วอลท์ ดิสนีย์ ไม่ใช่แค่นายทุนที่คิดแค่ว่ามีเงินหรือชื่อเสียงแล้วจะทำอะไรยังไงก็ได้ แต่เขายังมีส่วนในการช่วยคลี่คลายปมทางใจแต่วัยเยาว์ของเทรเวอร์ส ขณะที่นักประพันธ์หญิงอย่างเทรเวอร์สก็ทำให้วอลท์ ดิสนีย์ ได้สมปรารถนาในความฝัน และที่สำคัญเหนืออื่นใด ผมคิดว่าการโคจรมาพบกันของคนทั้งสอง มันให้ความรู้สึกโรแมนติกไปอีกแบบ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความรักใคร่
ตอนที่วอลท์ ดิสนีย์ และพี.แอล.เทรเวอร์ส นั่งคุยในบ้านหลังนั้น มันชวนให้นึกถึงภาพของคนแก่ๆ สองคนสนทนากันถึงคืนวันอันเก่าก่อน ภายหลังการเดินทางอันยาวนานของชีวิต และหลากหลายเรื่องราวความทรงจำ
ก็มีบ้างบางเรื่องที่น่าเศร้า แต่เมื่อคืนวันพ้นผ่าน เราจะย้อนกลับไปมองเรื่องราวนั้นด้วยความรู้สึกแบบไหน โศกเศร้าหรือเข้าใจ?...
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |