xs
xsm
sm
md
lg

มวลมหาความสนุก : Frozen/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หลายชั่วโมงก่อนที่ผมจะเริ่มเขียนบทความนี้ พ่อมดแห่งโลกแอนิเมชั่นอย่างบริษัท วอลต์ ดิสนีย์ เพิ่งเป่าเทียนฉลองการก่อตั้งครบรอบปีที่ 90 และก่อนที่หนังอันว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของ “วอลต์ ดิสนีย์” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรดิสนีย์ อย่าง Saving Mr. Banks จะเข้าฉาย คนไทยก็เพิ่งจะได้ชมแอนิเมชันเรื่องล่าสุดอันถือเป็นผลงานการ์ตูนลำดับที่ 53 ของดิสนีย์ ซึ่งจากกระแส ทั้งในบ้านเราและที่เมืองนอก ต่างบอกเป็นเสียงใกล้เคียงกันว่า นี่คือการกลับมาท็อปฟอร์มอย่างเยี่ยมยอดของวอลต์ ดิสนีย์ หรือแม้กระทั่งว่า หนังการ์ตูนอย่าง Frozen เรื่องนี้ เป็นผลงานที่ดีที่สุดของวอลต์ ดิสนีย์ นับตั้งแต่ Beauty & the Beast หรือ The Lion King เลยก็ว่าได้

แน่นอนว่า กับคำกล่าวข้างต้นนั้น ไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด เพราะ Frozen มีมวลสารองค์ประกอบแบบที่แฟนหนังยุคเก่าของวอลต์ ดิสนีย์ ชื่นชอบ มันคือการกลับไปสู่กรอบหรือขนบแบบแผนของดิสนีย์ที่มักจะพิงตัวเองอยู่กับเรื่องราวเชิงเทพนิยายเจ้าหญิงเจ้าชาย (Fairy Tale) ขณะเดียวกันก็มีมิติด้านเนื้อหาสาระผสมผสานไปกับความบันเทิงได้แบบลงตัว ชื่อ Frozen ที่ชวนให้นึกถึงความเหน็บหนาวสุดขั้ว กลับทำให้ทุกคนที่ได้ดูได้ชม รู้สึกอุ่นในหัวใจ ด้วยเรื่องราวที่นอกจากเรื่องรักอันละมุนละไม ยังแฝงไว้ด้วยแง่มุมแห่งความเป็นคน ไปจนกระทั่งการค้นพบตัวเอง (Self Discovery) กล่าวอย่างเรียบง่ายก็คือ ขณะที่เล่าเรื่องซึ่งอ่อนหวานปานเทพนิยาย Frozen ก็แพรวพรายด้วยเนื้อหาอีกหลากแง่หลายมุม เปิดจินตนาการให้คนดูได้ขบคิดตีความ

...ด้วยอำนาจเวทย์มนต์แห่งราชินีหิมะ ทำให้อาณาจักรต้องตกอยู่ภายใต้ฤดูหนาวอันเยือกเย็นและโหดร้ายตลอดกาล "แอนนา" สาวน้อยช่างฝัน จึงร่วมมือกับ "คริสตอฟ" มนุษย์ภูเขา ออกเดินทางตามหาราชินีหิมะเพื่อจะยุติคำสาปน้ำแข็งและปลดปล่อยบ้านเมืองให้พ้นจากยุคอันหนาวเย็น Frozen เดินเรื่องในโครงสร้างหลักแบบนี้ โดยมีซับพล็อตหรือพล็อตรองอีกสองสามจุดเดินควบคู่ไปด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า Frozen นั้นผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบรัดกุม ซึ่งต่อให้ยังไม่กล่าวถึงมุมของเนื้อหาเรื่องราว เอาง่ายๆ แค่ว่า ชื่อเรื่องนั้น ก็มีความหมายอย่างยิ่งต่อตัวเรื่อง โฟรเซ่นอาจจะหมายถึงความหนาวเย็นจากน้ำแข็งหรืออะไรก็ได้ แต่ในบางความหมาย มันสามารถหมายถึงความเย็นชาแข็งกระด้างของผู้คนได้ด้วย และแน่นอน นี่คือการเล่นกับคำและตอกย้ำเรื่องราวในเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างแยบยลและคมคาย

ด้วยตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ ซึ่งคนดูพร้อมจะเทใจให้รัก คาแรกเตอร์ทุกตัวผ่านการออกแบบมาอย่างมีความน่าจดจำในแบบของตัวเอง นอกจากเสน่ห์ด้านบุคลิก แต่ละตัวก็มีมิติด้านเนื้อหาอยู่ในตัวเอง ราชินีหิมะซึ่งเป็นพี่สาวของแอนนา เธอเติบโตมากับพลังอำนาจที่ไม่พึงปรารถนาและต้องถูกกักบริเวณซ่อนเร้นตัวเองจนกระทั่งถึงวันขึ้นครองราชย์ หนังวาดภาพของราชินีหิมะให้มีทั้งด้านมืดด้านสว่างเหมือนกับคนคนหนึ่งซึ่งมีเลือดเนื้อและชีวิต ดูสมจริง การใช้ชีวิตอย่างปิดงำตัวตนที่แท้จริง เหมือนภูเขาหิมะที่ปกคลุมหัวใจไว้หนักอึ้ง บทเพลงอย่าง Let it Go ซึ่งสุดแสนจะไพเราะทรงพลังนั้น อธิบายได้ย่างแจ่มชัดถึงตัวตนของตัวละครตัวนี้ ที่เข้าสู่ภาวะแบบค้นพบความหมายที่แท้จริงของการดำรงอยู่ของตัวเอง อย่างไรก็ดี หนังก็ซ้อนมิติเข้าไปอีกหนึ่งชั้นว่า การค้นพบตัวเอง (Self Discovery) หรือการดำรงอยู่ของตัวเอง แม้จะเยี่ยมยอดปานใด ต้องประกอบไปด้วยการเกื้อกูลผู้อื่นด้วย เหมือนอย่างที่ราชินีหิมะที่แม้จะพบกับความปลอดโปร่งเมื่อได้ปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมาแล้ว แต่ก็ต้องดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะไร้รักในผู้อื่น

ในมุมมองพื้นผิว Frozen อาจดูคล้ายจะเป็นเทพนิยายหวานๆ ซึ่งมันก็ใช่ แต่ที่เหนือไปกว่านั้น มันพูดถึงเรื่องลึกๆ หลายเรื่องในชีวิต ผ่านความคิดของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แอนนา” ซึ่งเป็นน้องสาวของราชินีหิมะและแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเสาหลักผู้ประคองโครงเรื่องทั้งหมดไว้นั้น เธอเป็นตัวละครที่เปี่ยมด้วยสีสันชีวิตชีวา อาจจะดูเหมือนอ่อนโลกในเรื่องรัก แต่ก็ศรัทธาหนักแน่นในพลังของความรัก

การสร้างความรักในตัวละครให้กับคนดูนั้น ถือเป็นบันไดขั้นแรกๆ ของความสำเร็จของหนัง และเราก็สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า Frozen ประสบความสำเร็จในสิ่งนั้นอย่างงดงาม หนังค่อยๆ เปิดตัวละครและแจกบทให้ไปทีละตัว ไปจนถึงมนุษย์หิมะที่มาพร้อมกับความตลกน่ารักและแต่งเติมสีสันความสนุกอารมณ์ขันให้กับหนังได้เป็นอย่างดี

นับตั้งแต่ออสการ์มีการประกวดแอนิเมชันยอดเยี่ยม ดิสนีย์ยังไม่เคยคว้ารางวัลนี้ และสำหรับ Frozen มีการคาดการณ์กันว่าอาจทำให้ดิสนีย์ฉลองชัยได้เป็นครั้งแรกในสาขานี้ เพราะเมื่อดูจากบริบทอะไรหลายอย่างแล้ว ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ ปีนี้ถือเป็นปีพิเศษของดิสนีย์ นอกจากจะมีการฉลองครบรอบ 90 ปี รวมทั้งมีหนังที่กล่าวถึงบุคคลที่ถือเป็นพ่อมดแห่งโลกการ์ตูนอย่าง “วอลต์ ดิสนีย์” อย่างที่บอกแล้ว Frozen ยังให้อารมณ์ความรู้สึกแบบ “วันเก่าคืนก่อน” อันอ่อนหวานสวยงาม (Nostalgia) และถ้าความรู้สึกแบบนี้รุนแรงพอต่อการหลอมหัวใจของคณะกรรมการออสการ์ให้ละลายได้ โอกาสที่ตุ๊กตาทองแอนิเมชันยอดเยี่ยมจะเป็นของ Frozen ก็มีอยู่สูง

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเรื่องอนาคต ซึ่ง Frozen อาจจะต้องไปเบียดบดกับผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนการวางมือของปรมาจารย์แอนิเมชั่นแห่งญี่ปุ่น “ฮายาโอะ มิยาซากิ” เรื่อง The Wind Rises เอาเป็นว่า ณ เวลานี้ ไปให้ดิสนีย์กอดหัวใจคุณให้อุ่นก่อน






กำลังโหลดความคิดเห็น