กาญจนบุรี...รายงาน
วิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่บริเวณตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีในปัจจุบัน ที่มีปัญหากลุ่มควันที่ปกคลุมพื้นที่โดยรอบ โดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักศึกษา บุคลากร และประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มควันเหล่านี้ เช่น ทำให้เกิดการระคายเคืองของตาและระบบการหายใจ เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจตามมาในระยะยาวได้
การเกิดปัญหากลุ่มควันที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือหาแนวทางป้องกันในระยะยาว เพราะในแต่ละปี ก็มีกลุ่มควันไฟปกคลุมพื้นที่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงจนส่งผลกระทบถึงผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
ดร.วีรวุฒิ ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้กล่าวถึงสาเหตุหลักของการเกิดกลุ่มควันปกคลุมในพื้นที่ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีว่า มาจากไฟไหม้พื้นที่ป่า และการเผาเศษพืชและเศษวัสดุที่เกิดจากการทำเกษตรกรรม ซึ่งในประเด็นของไฟไหม้ป่านั้นการเกิดไฟป่าจากธรรมชาติจะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ 3 อย่างที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมไฟ ได้แก่ ความร้อน ปริมาณก๊าซออกซิเจน และเชื้อเพลิง จึงจะก่อให้เกิดไฟได้ หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย
ดังนั้น สาเหตุการเกิดไฟป่าในประเทศไทย และพื้นที่ในภาคตะวันตกในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการกระทำของมนุษย์ และเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติได้น้อยมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวน
สาเหตุหนึ่งอาจจะมีการเผาป่าเพื่อบุกรุกพื้นที่ทำกิน ตามจำนวนประชากร และการเจริญเติบโตทางภาคเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของสาเหตุจากการเผาเศษพืชและวัสดุในพื้นที่เกษตรกรรม พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีประกอบอาชีพการทำไร่
เช่น ไร่มันสำปะหลัง และไร่อ้อย โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหีบ หรือช่วงการเก็บเกี่ยวอ้อย (พฤศจิกายน-มีนาคมของทุกปี) การเผาใบอ้อยก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวนอกจากจะส่งกระทบต่อคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตนํ้าตาลเมื่อเทียบกับการตัดอ้อยสดแล้วยังก่อให้เกิดการทำลายหน้าดิน และความสมดุลของธรรมชาติในดิน
และที่ทำสำคัญได้ก่อให้เกิดมลภาวะซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเกิดการลุกลามของไฟและกลุ่มควันปกคลุมในพื้นที่โดยรอบในวงกว้างตามมา จนไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศของภาคตะวันตกที่เป็นแนวร่องเขา ขวางกั้นทิศทางลมที่จะพัดเอากลุ่มควันออกไป
วิกฤตการณ์ ณ ปัจจุบัน จึงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งการห้ามการเผาอ้อยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้านํ้าตาลในอนาคตด้วยการเพิ่มราคารับซื้ออ้อยสดให้สูงกว่าอ้อยไฟไหม้ ดังนั้น เกษตรกรชาวไร่อ้อยของประเทศไทย จำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมด้วยการลดเลิกการเผาอ้อย
จากสาเหตุหลักของปัญหากลุ่มควันปกคลุมที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดร.วีรวุฒิ ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จึงได้เสนอแนวทางในการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น
สามารถแบ่งได้เป็นแผนการแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาว ดังต่อไปนี้ แผนการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น เมื่อเกิดปัญหากลุ่มควันและเศษขี้เถ้าปกคลุมพื้นที่โดยรอบพื้นที่
1.ทางหน่วยงานราชการท้องถิ่น โรงพยาบาล รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จะต้องร่วมมือกันเพื่อเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน นักศึกษา และบุคลากรของหน่วยงานทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และวิธีการป้องกันเบื้องต้น คือ
1.1 การแจกอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัยให้กับประชาชน นักศึกษาและบุคลากรของหน่วยงาน
1.2 จัดให้มีหน่วยพยาบาลที่สามารถคอยดูแลในส่วนของบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหืดหอบ โรคภูมิแพ้ โรคปอด หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ที่อาจรุนแรงขึ้น
1.3 แจ้งเบอร์โทรศัพท์ติดต่อฉุกเฉิน หากบุคคลใดมีอาการผิดปกติ จะมีหน่วยรถฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้ที่สุดทันที
แผนการแก้ไขและป้องกันปัญหาในระยะยาว นอกเหนือจากการแก้ปัญหาฉุกเฉินในระยะสั้นแล้วนั้นจำเป็นต้องมีแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยการดำเนินการที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีได้ลงมือปฏิบัติมาแล้ว และยังคงดำเนินการทำอยู่อย่างต่อเนื่อง นั่นคือ
1.การทำแนวกันไฟร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามในกรณีที่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้น
2.มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อทำการระงับและควบคุมการเกิดไฟไหม้ป่าร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
3.ทำโครงการสร้างฝายชะลอน้ำและความชุ่มชี้นให้แก่พื้นป่า
4.การจัดทำโครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ค่ายเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักศึกษาและชาวบ้านในพื้นที่ได้เกิดความตระหนักในการห่วงแหนทรัพยากรป่าไม้มีอยู่ร่วมกัน
5.เผยแพร่ความรู้ ให้กับชุมชน ถึงปัญหาและผลกระทบจากการบุกรุกพื้นที่ด้วยวิธีการเผาพื้นที่ป่าเพื่อนำมาใช้ทำการเกษตรกรรมหรือแม้แต่การเผาพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อความสะดวกสบายในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะการเผาใบอ้อยในฤดูการเก็บเกี่ยว
และ 6.เสนอแนะทางเลือกให้เกษตรกรด้วยการพัฒนาเครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวอ้อยให้มีความสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทดแทนการเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยการเผาใบอ้อย หรือการใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวอ้อยสดที่แต่เพียงอย่างเดียว
และนอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ตะหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน ได้เร่งผลิตบัณทิต ที่มีความรู้เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืน
โดยได้เปิดหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2557 เพื่อสร้างความยั่งยืนทางวิชาการในระยะยาว เป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขา “วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ” โดยเป้าหมายของหลักสูตรได้มุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตที่สามารถนำหลักการทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่สามารถเข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางป้องกันปัญหามลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อม มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้เพื่อใช้ในการลด แก้ไข กำจัด และป้องกันปัญหาเพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีโอกาสจะทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นภัยพิบัติได้
ไม่ว่าจะเกิดจากมนุษย์ หรือธรรมชาติ ซึ่งถ้าเกิดเป็นภัยพิบัติขึ้นจริง บัณฑิตก็จะสามารถมีแนวทางในการจัดการกับภัยพิบัติเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้โดยเร็วที่สุด
นอกจากนั้น จุดเด่นอีกข้อหนึ่งของหลักสูตร คือ การใช้แหล่งเรียนรู้ที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ อย่างเช่นเหตุการณ์การเกิดกลุ่มควันจากการเผาพื้นที่ป่าและที่ทำกินทางเกษตรกรรมปกคลุมพื้นที่ที่กล่าวถึงนี้มาเป็นตัวอย่างการศึกษาและร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข
ท้ายที่สุดสามารถนำความรู้ที่ได้ไปบูรณาการกับภูมิปัญญาชาวบ้าน และสามารถเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนได้ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาวิฤติการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากการร่วมมือกันอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน