เชียงราย - วิจารณ์แซดผู้ว่าฯ นำทีมเปิดโต๊ะประชุมลับ เขย่าเก้าอี้ “ปลัด-รองปลัด อบจ.” พันเก้าอี้ ผอ.กกต.อบจ.เชียงราย ก่อนถึงวันศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา “นายก อบจ.-เมียยุทธ ตู้เย็น” ถูกฟ้องแจ้งเท็จ-เจอหมายจับซ้ำ จนหายหน้าไปจากแวดวงสังคมมานานกว่า 1 เดือน
วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้คนเชียงราย ทั้งที่อยู่ในแวดวงการเมือง และชาวบ้านทั่วไปกำลังเฝ้าจับตา และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินคดีที่นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช นายก อบจ.เชียงราย ภรรยานายยงยุทธ ติยะไพรัช นักการเมืองใหญ่ ที่ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.)
นางสลักจฤฎดิ์ ถูกนางรัตนา จงสุทธนามณี อดีตนายก อบจ.เชียงราย ฟ้องในข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 137 ประมวลกฎหมายอาญา และกระทำการอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือบริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 114 หลังเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ปี 2547 และเกิดการร้องเรียนกันว่าอีกฝ่ายกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง
คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกนางสลักจฤฎดิ์เป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โทษปรับจำนวน 75,000 บาท รวมทั้งให้เว้นวรรคทางการเมือง 10 ปี แต่ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้อง และมีการยื่นต้อศาลฎีกาต่อ ซึ่งศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษา 2 ส.ค. 56 โดยให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา แต่นางสลักจฤฎดิ์ขอเลื่อน โดยระบุว่า ป่วย-ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ศาลจึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 13 ก.ย. 56 แต่นางสลักจฤฎดิ์ก็ยื่นคำร้องขอให้ตีความอำนาจในการอ่านคำพิพากษา พร้อมระบุว่ามีหลักฐานใหม่จะชี้แจง ทำให้ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 5 ก.พ. 57
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันนัด (5 ก.พ.) นางสลักจฤฎดิ์ไม่ได้เดินทางไปฟังคำสั่ง โดยระบุว่าป่วย ท้ายที่สุดศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 มี.ค.นี้ และสั่งออกหมายจับนางสลักจฤฎดิ์ให้ไปฟังคำพิพากษาด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับเป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ปรากฏว่านางสลักจฤฎดิ์ได้หายหน้าหายตาไปจากสังคมอย่างสิ้นเชิง โดยมีนายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ รองนายก อบจ.เชียงราย ได้เข้ามารักษาราชการในตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย แทนจนถึงวันนี้
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ผลคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งนี้ นอกจากจะมีผลต่อตำแหน่งนายก อบจ.เชียงรายของนางสลักจฤฎดิ์แล้ว ดูเหมือนจะเกี่ยวพันไปถึงเก้าอี้นางอัมพวัน ศรีวรรณยศ ปลัด อบจ.เชียงราย และนายสุภัทร อักษรแก้ว รองปลัด อบจ.เชียงราย ด้วย เพราะหากมีการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงรายใหม่ ปลัด อบจ.เชียงรายก็จะเป็นผู้อำนวยการ กกต.อบจ.เชียงราย โดยตำแหน่ง และมีผลต่อการตรวจสอบการเลือกตั้งด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนี้กำลังมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่นั่งอยู่ในเก้าอี้ปลัด-รองปลัด อบจ.เชียงราย ให้เห็นอย่างชัดเจน
ล่าสุดวานนี้ (10 มี.ค.) นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในฐานะคณะกรรมการข้าราชการ อบจ.เชียงราย (ก.จ.จ.เชียงราย) ได้เปิดประชุมพิจารณากรณีมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงต่อนางอัมพวัน ศรีวรรณยศ ปลัด อบจ.เชียงราย และนายสุภัทร อักษรแก้ว รองปลัด อบจ.เชียงราย เรื่องการจัดซื้อเครื่องกันหนาวซึ่งทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เคยชี้มูลเอาไว้เมื่อปี 2554 และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น
การประชุมในครั้งนี้จัดให้เป็นการประชุมลับ ไม่เปิดให้สื่อมวลชน หรือบุคคลภายนอกเข้ารับฟัง รวมทั้งมีการขอกำลังสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปประจำการโดยรอบ อ้างว่ากำลังปฏิบัติการสีดำ ขอไม่ให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเดินไปมา เพราะอาจจะถ่ายติดภาพของเจ้าหน้าที่ได้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในที่ประชุมได้นำเสนอผลการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงดังกล่าว ซึ่งมีกรรมการบางคนเห็นพ้องด้วยกับรายงาน ทำให้อาจถึงขั้นไล่นางอัมพวันออกจากราชการ และปลดนายสุภัทรออกจากราชการด้วย
นางอัมพวันกล่าวว่า ตนถูกอำนาจทางการเมืองกลั่นแกล้ง โดยที่ไม่มีการเปิดโอกาสให้โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่ในขั้นต้น สตง.เสนอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ไม่ได้ถึงขั้นตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงเลย
ดังนั้น หากมีมติในขั้นสุดท้ายว่าตน และนายสุภัทร มีความผิดก็จะยื่นอุทธรณ์ทันทีและไปร้องทุกข์ต่อศาลปกครอง-ศาลอาญาด้วย หรือแม้จะพิจารณาว่าตนไม่มีความผิด ตนก็จะฟ้องกลับผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้นำที่ไม่มีความเป็นธรรม และทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง เพื่อป้องกันเกียรติยศความเป็นข้าราชการของตนเอาไว้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้นางอัมพวัน และนายสุภัทร ถูกย้ายให้ไปทำหน้าที่ประจำ อบจ.เชียงราย จากนั้นได้มีการสอบสวนข้อกล่าวหา ต่อมานางอัมพวันได้มีคำร้องทักท้วง และขอให้ทาง ก.จ.จ.ได้พิจารณาใหม่ เพราะมีการพิจารณาจะโอนบุคคลที่เป็นญาติของนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช นายก อบจ.เชียงราย ที่ทำงานเป็นเลขานุการ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ไปดำรงตำแหน่งรองปลัด อบจ.เชียงราย
นางอัมพวันให้เหตุผลว่า ตำแหน่งเดิมไม่เทียบเท่ากับระดับรองปลัด อบจ. รวมทั้งไม่ได้มาตรฐานของนักบริหารงาน อบจ.ที่ไม่เคยเป็นหัวหน้าสำนักงานปลัดระดับ 8 หรือผู้อำนวยการกองระดับ 8 มาก่อนอย่างน้อย 2 ปี และมาตรฐานยังกำหนดให้ต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่นมาก่อนด้วย