เชียงราย - ข้าราชการระดับสูง อบจ.เชียงราย เปิดห้องแถลงข่าวชี้พิรุธกรรมการข้าราช อบจ.รับโอนน้องสาว “สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช” นายก อบจ. ข้ามห้วยจาก ม.แม่โจ้ นั่งรองปลัดส่อผิดระเบียบ ยื่นทบทวนกลับถูกรื้อเรื่องเดิมสอบวินัยร้ายแรงกราวรูด
วันนี้ (12 ก.ย.) นางอัมพวัน ศรีวรรณยศ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย นายสุภัทร อักษรแก้ว รองปลัด อบจ. นางวรรณพัชร จินดาขัด ผู้อำนวยการกองบรรเทาสาธารณภัย อบจ. แถลงข่าวที่ห้องประชุมสภา อบจ.ว่า ต้องการเรียกร้องขอความเห็นใจต่อสังคมกรณีถูกกลั่นแกล้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายรองปลัด อบจ.เชียงราย และถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงจากฝ่ายบริหาร
โดยทั้ง 3 ได้แจกจ่ายสำเนาหนังสือที่ส่งถึงประธานกรรมการข้าราชการ อบจ. (ก.จ.จ.) เชียงราย ซึ่งมีการประชุมวันเดียวกันนี้ ให้ทบทวนมติเห็นชอบให้ นางนุชนารถ วดีศิริศักดิ์ เลขานุการ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นน้องสาวของ นางสลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช นายก อบจ.เชียงราย มาดำรงตำแหน่งรองปลัด อบจ. และสำเนาเอกสารการลงบันทึกประจำวัน ซึ่งนางอัมพวัน ได้ไปแจ้งความไว้ที่ สภ.เมือง
นางอัมพวัน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ก.จ.จ.เชียงราย มีมติพิจารณารับโอนนางนุชนารถ ไปเป็นรองปลัด อบจ. แล้ว แต่ตนเห็นว่าตำแหน่งของ นางนุชนารถ เป็นตำแหน่งผู้บริหาร และระดับผู้อำนวยการกอง เมื่อเทียบกับตำแหน่งรองปลัด อบจ.แล้ว ยังไม่มีตำแหน่งที่เทียบเท่ากัน เพราะตามระเบียบหากจะมีการปรับสายงานในลักษณะนี้ ผู้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักบริหารงาน อบจ. หรือเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานปลัดระดับ 8 หรือผู้อำนวยการกองระดับ 8 มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ทั้งยังต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่นด้วย
ตนจึงได้ทำหนังสือถึงประธาน ก.จ.จ.เชียงราย คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยระเบียบ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จึงเห็นว่าควรประชุม ก.จ.จ.เชียงรายใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง
แต่ปรากฏว่า ในวันนี้ทาง ก.จ.จ.เชียงราย ได้นัดประชุมด่วน โดยขอประชุมลับ แม้แต่ตนซึ่งเป็นเลขานุการ ก.จ.จ.เชียงราย โดยตำแหน่งก็ยังไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย “จากนั้นก็มีกระแสว่าพวกเราทั้ง 3 คน จะถูกย้ายให้มาประจำ อบจ.เชียงราย”
ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงต่อตน กรณีจัดซื้อเครื่องกันหนาว ซึ่งทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยชี้มูลเอาไว้ตั้งแต่ปี 2554 แต่ไม่ได้ชี้มูลความผิดใคร เพียงแต่ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่กลับมีผลออกมาในตอนนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการแต่งตั้งใน ก.จ.จ.เชียงรายหรือไม่
นางอัมพวัน กล่าวว่า ตนทำงานในท้องถิ่นมาร่วม 38 ปี ส่วนนายสุภัทร 34 ปี ไม่เคยถูกกระทำเช่นนี้มาก่อน จึงเห็นว่าพวกเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งตอนนี้พวกตนยังไม่ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการ ถ้ามีคำสั่งออกมาก็จะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องศาลอาญา หรือร้องต่อศาลปกครอง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การเรียกประชุม กจ.จ.กระทำอย่างเร่งด่วน ก่อนจะมีการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีของนายก อบจ.เชียงราย วันที่ 13 กันยายนนี้ด้วย
ด้านนายสุภัทร กล่าวว่า วันที่พวกตนแถลงยังไม่มีคำสั่งลงมาอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าคงมีการตั้งธงเอาไว้แล้วว่าจะดำเนินการต่อพวกตนด้วยการย้ายมาประจำ อบจ. และถูกดำเนินการทางวินัย ซึ่งตนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะทำงานมาจนใกล้จะเกษียณอายุราชการอีกไม่กี่ปีอยู่แล้ว ไม่ควรถูกกระทำเช่นนี้
นางวรรณพัชร กล่าวว่า ตนก็ถูกตรวจสอบทางวินัยด้วยเช่นกัน กรณีการจัดซื้อเครื่องกันหนาว ที่จะต้องนำไปให้ประชาชน แต่จำนวนได้ขาดหายไป ดังนั้น ผู้บริหารได้มีคำสั่งทางวาจาให้ตนไปตรวจสอบ ซึ่งก็พบว่ามีความผิดปกติที่หน่วยงานหนึ่งใน อบจ. เมื่อตนนำกลับไปรายงาน กลับไม่มีการดำเนินการกับหน่วยงานนั้น กลับตรวจสอบทางวินัยตนแทน
ข่าวแจ้งว่าเป็นที่น่าสังเกตว่า ความวุ่นวายภายใน อบจ.เชียงราย เกิดขึ้นก่อนที่ศาลจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีนางรัตนา จงสุทธนามณี อดีตนายก อบจ.เชียงราย เป็นโจทก์ฟ้อง นางสลักจฤฎดิ์ ในคดีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 137 ประมวลกฎหมายอาญา และกระทำการอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือบริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ให้จำคุก และเว้นวรรคทางการเมือง และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง จนมีการยื่นฎีกา
แต่ในการนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา นางสลักจฤฏดิ์ ได้ขอเลื่อน โดยแจ้งว่าปวดศีรษะอย่างรุนแรง ศาลจึงเลื่อนการฟังอีกครั้งในวันที่ 13 กันยายน เวลา 09.00 น.