อุดรธานี - เขตบริการสุขภาพที่ 8 โดยโรงพยาบาลอุดรธานี เปิดบริการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมรายแรก โดยทีมงานผ่าตัดหัวใจโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลอุดรธานี
วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ห้องผ่าตัดโรงพยาบาลอุดรธานี นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี, นายแพทย์ณรงค์ ธาดาเดช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี รศ.นายแพทย์สมภพ พระธานี หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พร้อมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันเปิดเผยถึงความสำเร็จการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจขั้นรุนแรง (Severe mitral stenosis) ให้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยทำการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม และผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ
ทั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างเขตบริการสุขภาพที่ 8 โดยโรงพยาบาลอุดรธานี กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี เปิดเผยว่า การผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบและรั่วรายนี้เป็นหญิงอายุ 26 ปี อยู่ ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 12.00 น. โดยการผ่าตัดครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผู้ป่วยไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่อย่างใด หลังผ่าตัดผู้ป่วยนอนพักฟื้นที่ห้อง ICU ศัลยกรรมโรงพยาบาลอุดรธานี
ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวเวลา 13.30 น. มีอาการปวดแผลเล็กน้อย หัวใจและชีพจรเต้นเป็นปกติ ความดันและสัญญาณชีพทุกอย่างปกติ ท่ามกลางการดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมแพทย์ พยาบาลห้อง ICU ศัลยกรรมโรงพยาบาลอุดรธานี
นายแพทย์มนัสกล่าวว่า ในการที่จะส่งผู้ป่วยโรคหัวใจไปรักษายังโรงพยาบาลศรีนครินทร์ หรือส่งไปผ่าตัดที่อื่นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และลำบากมาก จากนี้ต่อไปผู้ป่วยจะได้ทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งจะได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องชาวอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง
โรงพยาบาลอุดรธานี คือโรงพยาบาลที่เป็นที่ฝากชีวิตของชาวโรงพยาบาลอุดรธานี และชาวอีสานเหนือ
นอกจากนี้ นายแพทย์มนัสยังได้กล่าวถึงภาพรวมของโรคหัวใจ ซึ่งมีหลายโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ ซึ่งพบในผู้ที่มีอายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป อาการของโรคจะเหนื่อยง่าย หอบเหนื่อย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจมาจากหลายๆ สาเหตุ
ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพของตัวเอง ในผู้ที่สูบบุหรี่ก็ควรงดสูบบุหรี่ ลดอาหารมัน งดของทอด ออกกำลังกายต่อเนื่องแต่ไม่ต้องหักโหม เน้นเป็นการวิ่งเบาๆ วันละ 20-30 นาที ซึ่งการออกกำลังกายเบาๆ จะช่วยในเรื่องของการลดไขมันในร่างกาย กินอาหารจำพวกผัก ปลาให้มากขึ้น ให้ใช้น้ำมันพืชเป็นหลักในการประกอบอาหาร และถ้าให้ดีการรับประทานปลา หรือเนื้อสัตว์ให้นึ่งดีกว่าทอด
ด้าน รศ.นายแพทย์สมภพ พระธานี หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวเสริมด้วยว่า สำหรับการป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบมีพื้นฐานมาจากโรคในช่องปาก ดังนั้น ทุกท่านจะต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลช่องปากให้ดี อย่าปล่อยให้ฟันผุ
รวมถึงการสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ เพราะการสูบบุหรี่จะไปทำให้เส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบ ไปทำลายเส้นเลือดหัวใจ