xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! คนไทยตายจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสูงกว่าที่อื่น 4-6 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ (6 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทยและของโลก ซึ่งจากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2553 พบว่า มีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นจำนวนถึง 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.2% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับในไทยเสียชีวิตปีละ 37,000 ราย ในระหว่างปี 2548-2552 คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจ ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 1,185 ราย โดยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน ที่สำคัญผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในไทยจะมีอัตราตายสูงกว่าที่อื่นประมาณ 4-6 เท่า

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพ ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น กรมการแพทย์จึงได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ให้เป็นเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ตามรูปแบบเครือข่ายการบริการ (Service Plan) ซึ่งจะมีการกำหนดพื้นที่บริการและระบบส่งต่อที่ชัดเจน สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว มีมาตรฐาน ประกอบด้วย ทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ (heart team) ช่องทางด่วน (Fast track) เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนในการรักษาผู้ป่วยให้รวดเร็ว ทันเวลา นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ คู่มือรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ตำราการอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แนะนำการป้องกันและรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ การสูบบุหรี่ ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักผลไม้ โรคอ้วนลงพุง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในการปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีห่างไกลจากโรค

“สัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งมักเกิดแบบเฉียบพลันว่า จะมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจหอบ เป็นลม มือเท้าเย็นและมีเหงื่อออก จึงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว และขอให้ประชาชนปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำจิตใจให้แจ่มใสเพื่อลดความเครียด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น