ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ภัยแล้งขยายวงกว้างหลายจังหวัดเดือดร้อนหนัก ที่ขอนแก่นแหล่งท่องเที่ยว"วนอุทยานน้ำตกบ๋าหลวง" น้ำแห้งขอดจนกลายเป็นลานหิน "อุบลฯ" ลำน้ำมูลที่เป็นแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตประปาป้อนชุมชนเข้าสู่วิกฤต ระดับน้ำลดฮวบฮาบ สามารถผลิตน้ำประปาได้เพียง 20% เท่านั้น "จันทบุรี" รุนแรงหนักขยายพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งเป็น 9 อำเภอจาก 8 อำเภอ "อ่างทอง" ปัญหาภัยแล้งทำให้ราคาผักหลายชนิดในตลาดเกษตรสุวพันธุ์เมืองอ่างทอง ปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่ชาวเรือนแพ ในคลองสาขาแม่น้ำยม ปากน้ำโพ เดือดร้อนหนักหลังน้ำแห้งขอดจนแพเกยตื้นอยู่บนเนินดิน ลูกบวบแตกยับ แถมเริ่มขาดน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว ส่วน "บ้านหมี่" เมืองลพบุรีเริ่มแล้งหนักข้าวนาปรังเสียหายกว่า 500 ไร่
**ขอนแก่นประกาศพิบัติแล้ง 13 อำเภอน้ำตก"บ๋าหลวง"แห้งขอด
วันนี้ (25 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ขอนแก่นขณะนี้ว่า แม้ขณะนี้จะเพิ่งเข้าสู่หน้าร้อน แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.ขอนแก่น จะรุนแรงเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะแหล่งน้ำต่างๆ ห้วย หนอง คลอง บึง ปริมาณน้ำเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนบางจุดพบว่าแห้งขอดแล้ว และจากสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ขณะนี้ทางจังหวัดขอนแก่นได้ประกาศให้พื้นที่ 13 อำเภอจาก 26 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของจังหวัดและเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก
ล่าสุดพบว่า แหล่งท่องเที่ยวน้ำตกที่ขึ้นชื่ออีกแห่งของจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะวนอุทยานน้ำตกบ๋าหลวง บ้านโคกล่าม ต.ห้วยยาง อ.กระนวน เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาสวนกวาง ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็กลักษณะเป็นลำธาร ไหลผ่านโตรกหิน มีความสูงประมาณ 10 เมตร เบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำและเหนือน้ำตกเป็นลานหินกว้าง นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปที่อ่างนางลอยอีกด้วย
แต่เนื่องจากภัยแล้งมาเร็ว ส่งผลให้น้ำตกมีสภาพน้ำแห้งขอด จนกลายเป็นลานหินกว้าง แม้ทางอุทยานแห่งชาติเขาสวนกวางจะทำฝายแม้วเป็นช่วงๆตามลำธารเพื่อชะลอน้ำเก็บไว้ช่วงหน้าแล้งแต่ไม่สามารถช่วยได้ จนทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าซบเซารายได้หดหาย เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา บางรายต้องปิดกิจการชั่วคราวไปทำอาชีพอื่นเสริมในฤดูแล้งแทน
**ภัยแล้งเริ่มกระทบแหล่งผลิตประปาอุบลฯ
นายคมสัน บุญเอี่ยม ผู้จัดการสำนักงานประปาส่วนภูมิภาคสาขาอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ขณะนี้แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาใช้ในตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 24.000 ครัวเรือนกว่า 90,000 คน กำลังประสบปัญหา เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลในปัจจุบันน้อยลดลง ทำให้โรงผลิตน้ำท่าวังวังหิน เทศบาลนครอุบลราชธานี ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำมูลน้อยสามารถผลิตน้ำประปาเข้าสู่ระบบได้เพียง 20% ของกำลังการผลิตเท่านั้น
แต่อย่างไรก้ตาม ทางการประปาส่วนภูมิภาค ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้วโดยมีการดึงน้ำจากแหล่งผลิต โรงน้ำประปาโพธิ์มูล อำเภอวารินชำราบ และโรงผลิตน้ำตำบลกุดลาด ที่ใช้แหล่งน้ำดิบจากแม่น้ำมูลเข้ามาเสริม จึงยังไม่ถึงกับขาดแคลนน้ำประปา แต่จะเกิดปัญหากับบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ปลายท่อส่งน้ำอาจจะได้รับผลกระทบจากความดันน้ำที่ลดลงในช่วงนี้ จึงขอให้ประชาชนที่มีภาชนะเก็บน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ และเมื่อเข้าสู่หน้าฝนฝนสถานการณ์น้ำประปาจะกลับมาเป็นปกติ
**กาฬสินธุ์ประสบภัยแล้งแย่งน้ำทำนาปรัง
ส่วนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จากการสำรวจปัญหาความแห้งแล้งทั้ง 18 อำเภอของจังหวัดพบว่า มีปัญหาความแห้งแล้งแล้ว 13 อำเภอ พื้นที่นอกเขตชลประทาน แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาการอพยพแรงงาน โดยเฉพาะพื้นที่ อ.นามน อ.ห้วยผึ้ง อ.หนองกุงศรี และ อ.ห้วยเม็ก ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชสวนครัวได้ และเกิดปัญหาอาชญากรรม
นอกจากนี้ ในเขตชลประทาน เริ่มเกิดปัญหาการแย่งน้ำทำนาปรัง เพราะอากาศแปรปรวน ข้าวไม่โต ทำให้หลายพื้นที่ชาวนาต้องเร่งสูบน้ำตามครองชลประทาน ส่งผลให้ท้ายน้ำมีน้ำไม่เพียงพอ อีกทั้งในอนาคต เกษตรกรเกรงว่าปริมาณข้าวนาปรังที่ผลิตออกมามากกว่าปกติจะไม่มีตลาดรองรับ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ประกาศให้มีโครงการรับจำนำข้าวนาปรังในฤดูกาลนี้ จึงเรียกร้องให้ทางจังหวัดจัดหาตลาด พร้อมกับหาแผนแก้ไขปัญหาน้ำแล้งให้กับประชาชนในฤดูกาลนี้ด้วย
**บุรีรัมย์ช้ำหนักเลิกทำนาหันปลูกอ้อยเจอแล้งซ้ำอีก
ด้านชาวนาบ้านละกอ ต.ดอนมนต์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวหันมาปลูกอ้อย หวังหนีปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้งที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย และประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ที่ขยายวงกว้างและมาเร็วกว่าทุกปี กลับทำให้ชาวนาที่หันมาปลูกอ้อยต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งซ้ำอีก เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดทำให้ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นอ้อยที่ปลูกใหม่เริ่มมีสภาพเหี่ยวเฉา
จากผลกระทบดังกล่าวชาวนาหลายรายต้องยอมควักเงินในกระเป๋าซื้อน้ำจากพ่อค้ารถเร่คันละ 350 - 400 บาท นำไปฉีดพรมหล่อเลี้ยงต้นอ้อยที่ปลูกใหม่ไม่ให้แห้งตายเสียหาย ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นอีกเฉลี่ยไร่ละ 2,000 บาท จากกรณีดังกล่าวได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือโดยการขุดลอกแหล่งน้ำ หรือขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อให้ชาวนาหรือเกษตรกรได้มีน้ำในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
นางสงวน ขจัดโรคา อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 138 ม.6 ชาวนาบ้านละกอ ต.ดอนมนต์ อ.สตึก บอกว่า มีที่นาอยู่ทั้งหมด 5 ไร่ ที่ผ่านมาประสบภัยแล้งและน้ำท่วมมาโดยตลอด จนทำให้ประสบปัญหาขาดทุนและมีหนี้สินสะสมจากการกู้ยืมมาลงทุนทำนา จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนนาข้าวหันมาปลูกอ้อย แต่กลับต้องมาเผชิญภาวะภัยแล้งซ้ำอีก จนต้องซื้อน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นอ้อยที่ปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และยังไม่รู้ว่าปีนี้จะได้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งหาแนวทางช่วยเหลือ
**จันทบุรีประกาศภัยแล้งเพิ่มอีก 1 อำเภอ
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.จันทบุรี พบว่า ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี น้ำในคลองธรรมชาติในหลายพื้นที่แห้งขอด ประกอบกับน้ำในเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บกักน้ำก็เหลือน้อยลง ชาวบ้านในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
ล่าสุด จังหวัดต้องประกาศเพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อำเภอแก่งหางแมว เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางจังหวัดได้มีการประกาศให้ 8 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งไปแล้ว ซึ่งรวมพื้นที่ประสบภัยแล้ง จ.จันทบุรี ในขณะนี้มี 9 อำเภอ 52 ตำบล 400 กว่าหมู่บ้าน ได้รับความเดือดร้อน ทางจังหวัดได้มีการสั่งการให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล และสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ได้ออกให้การช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วน ทั้งการออกแจกจ่ายน้ำ การนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือ การขุดบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น การแจกถังเก็บกักน้ำ และการนำเครื่องมือหนักขุดทำแนวกั้นเก็บกักน้ำ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับชาวบ้านในเบื้องต้น
**คลองสาขาน้ำยมแห้งขอด จน "แพ" เกยตื้น
ด้านชาวแพในลำคลองบางเคียน ต.บางเคียน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ กำลังเดือดร้อนหนัก เนื่องจากระดับน้ำในลำคลองแห้งขอด จนแพกว่า 50 หลัง ต้องติดพื้น-บางแพลาดเอียงขยับไม่ได้ เสียหายไปแล้วนับสิบหลังคาเรือน
บรรดาชาวเรือนแพต่างบอกว่า ระดับน้ำในลำคลองบางเคียน ที่เป็นคลองสาขาของแม่น้ำยม ลดลงมากกว่าปกติ ทำให้แพที่อยู่ริมลำคลองได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า เนื่องจากไม้ไผ่ที่ใช้รองแพให้ลอยน้ำ หรือที่เรียกว่าลูกบวบ กดทับกับพื้นดินจนแตกเสียหาย หากระดับน้ำสูงขึ้นมาแพก็จะไม่สามารถลอยน้ำได้อีก และจะต้องทำการซ่อมแซมก่อน ซึ่งจะใช้งบประมาณหลังละกว่าสองหมื่นบาท
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนขาดน้ำอุปโภค เนื่องจากเคยใช้น้ำในลำคลองได้แต่ตอนนี้แม้แต่น้ำที่จะใช้ถูบ้าน หรืออาบ แทบจะไม่มีแล้ว
**ภัยแล้งกระทบผักอ่างทองปรับราคาสูงขึ้น
ที่ จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจราคาผักที่ตลาดเกษตรสุวพันธุ์ เมืองอ่างทอง ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง หลังจากเกษตรกรผู้ปลูกผักขายเริ่มประสบปัญหากับภัยแล้ง พบว่า ราคาพืชผักในตลาดหลายชนิด เช่น ผักกะหล่ำปี ผักกวางตุ้ง มะเขือ ผักคะน้า เป็นต้น เริ่มมีการปรับราคาสูงขึ้น
นางอนงค์นุช นาคดี อายุ 38 ปี แม่ค้าขายผักในตลาดเกษตรสุวพันธุ์ เมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการปลูกผักของเกษตรกรอย่างมาก เนื่องผักที่ปลูกขาดแคลนน้ำ ทำให้ผักไม่เจริญเติบโต ได้ผลผลิตน้อย จึงส่งผลให้ราคาพืชผักขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ช่วงนี้ผักหลายชนิดเริ่มมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มากนัก สาเหตุน่าจะมาจากผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผักไม่เจริญเติบโต มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย จึงทำให้ผักบางชนิดมีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ทางร้านได้ขายผักในราคาปกติเนื่องจากที่สวนได้ปลูกผักเองแล้วก็ได้ใช้น้ำจากบ่อโยกจึงไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไร ขณะที่แม่ค้าหลายรายก็พยายามไม่ขึ้นราคามากนัก แต่จะไปเพิ่มยอดขายแทน” นางอนงค์นุช กล่าว
สำหรับราคาพักที่ตลาดเกษตรสุวพันธุ์ เมืองอ่างทอง วันนี้ ผักคะน้า ขายส่งกิโลกรัมละ 20 บาท ผักกวางตุ้ง ขายส่งกิโลกรัมละ 18 บาท มะละกอ ขายส่งกิโลกรัมละ 24 บาท หัวไชเท้า ชายส่งกิโลกรัมละ 12 บาท แตงกวา ขายส่งกิโลกรัมละ 15 บาท เห็ดนางฟ้า ขายส่งกิโลกรัมละ 60 บาท
**"บ้านหมี่"แล้งหนักข้าวนาปรังเสียหายกว่า 500 ไร่
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งของ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ในขณะนี้ส่อความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำบางขาม ซึ่งถือเป็นแม่น้ำสายหลักของชาวบ้านใน 4 ตำบลของ อ.บ้านหมี่ ประกอบด้วย บางพึ่ง มหาสอน บางขาม และบ้านชี มีระดับน้ำลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้ทางอำเภอต้องตัดสินใจขอน้ำในอนาคตของเดือนเมษายนจำนวน 3 แสนคิว มาให้ชาวบ้านใช้ในการอุปโภค บริโภค และห้ามนำน้ำนี้ไปใช้ในการทำนาอย่างเด็ดขาด เพราะน้ำจำนวนนี้ต้องใช้ให้ถึงสิ้นเดือนเมษายน หากน้ำหมดก่อนชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากน้ำกิน น้ำใช้อย่างแน่นอน
ซึ่งการห้ามนำน้ำจากแม่น้ำบางขามไปใช้ในนาข้าวทำให้ชาวนาในพื้นที่ตำบลบางขามของอำเภอบ้านหมี่ที่มีการปลูกข้าวนาปรังไว้จำนวน 3,500 ไร่ ได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากหาแหล่งน้ำเพื่อสูบเข้านาไปเลี้ยงต้นเข้าที่กำลังตั้งท้องใกล้ที่จะออกรวงในไม่ช้าได้รับความเสียหาย ต้นข้างแห้ง เหลือง และเริ่มยืนต้นตายจากการขาดน้ำแล้วจำนวนกว่า 500 ไร่ และที่เหลืออีก 3,000 ไร่ ก็จะได้รับผลกระทบตามมาในไม่ช้านี้