นครสวรรค์ - สาธารณสุขจังหวัดฯ ส่ง จนท.สุ่มตรวจตลาดสด-ตลาดนัด 3 อำเภอในนครสวรรค์พบอาหารทะเล-ผักสด อาบน้ำยาดองศพกว่า 100 ตัวอย่าง เผยตลาดสดขนาดใหญ่เจอมากถึง 59 % ชี้สุดอันตราย
นพ.บัวเรศ ศรีประทักษ์ สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ทางสาธารณสุขฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจประเมินอาหารปลอดภัยของกรมอนามัย ในตลาดสด 2 แห่ง-ตลาดนัด 3 แห่ง เขต 3 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ คือ อ.เมือง อ.ท่าตะโก อ.ชุมแสง ช่วงปลายเดือนมกราคม 57 ที่ผ่านมา
โดยได้เก็บตัวอย่างอาหารทั้งหมด 275 ตัวอย่างมาตรวจ ไม่พบมีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ และสารฟอกขาว แต่ที่น่าตกใจ คือ พบการใช้สารฟอร์มาลีน หรือน้ำยาฉีดศพ หรือน้ำยาดองศพ มาใช้กับอาหารสด เพื่อไม่ให้เน่าเสียง่ายปนเปื้อนอยู่ด้วย
นพ.บัวเรศระบุว่า ในตัวอย่างอาหารจากทั้ง 5 ตลาด ตรวจพบปนเปื้อนฟอร์มาลีน 102 ตัวอย่าง เฉลี่ยร้อยละ 25 ขณะที่ตลาดสดขนาดใหญ่พบถึงร้อยละ 59 โดยอาหารที่ตรวจพบ ประกอบด้วย กุ้ง ปลาหมึก ปลาหมึกกรอบ ขิงหั่นฝอย กระชายหั่นฝอย เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอมสด ถั่วฝักยาว สไบนาง
นพ.บัวเรศบอกอีกว่า ถือเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก เป็นการใช้สารฟอร์มาลีนผิดวัตถุประสงค์ เพราะห้ามใช้ในอาหารอย่างเด็ดขาด เป็นอันตรายทั้งคนใช้ แม่ค้า และผู้บริโภค เนื่องจากสารชนิดนี้มีอันตรายสูง เป็นสารก่อมะเร็ง จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มงวดจริงจัง และให้สาวถึงแหล่งต้นตอให้ได้ เพื่อลงโทษให้เด็ดขาด
สำหรับกลุ่มตัวอย่างอาหารที่ตรวจพบว่ามีการใช้สารฟอร์มาลีนดังกล่าว ก่อนหน้านี้มักจะตรวจพบว่า เป็นกลุ่มตัวอย่างอาหารที่ใช้สารฟอกขาว การพบสารฟอร์มาลีนสูงขึ้น อาจเป็นเพราะพ่อค้าแม่ค้าเปลี่ยนจากการใช้สารฟอกขาวใส่อาหารเพื่อให้คงสภาพสด ไม่หมองคล้ำ หรือไม่เน่าเสีย มาเป็นการใช้สารฟอร์มาลีนแทน
ทั้งนี้ สารฟอร์มาลีน เป็นสารที่มีอันตรายมาก ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปจะปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออก กดประสาทส่วนกลางทำให้หมดสติได้ ที่ผ่านมา สธ.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับ 93 พ.ศ. 2528 ห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใดละเมิดใส่ในอาหารต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับฐานผลิตอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการตลาดสด ตลาดนัดให้เข้มงวดความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายในตลาด เพื่อร่วมกันคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน
นพ.บัวเรศระบุด้วยว่า เรื่องนี้จะต้องควบคุมตั้งแต่ตอนปลูก จึงต้องทำงานแบบประสานกันทุกหน่วย ทั้งหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการเกษตร เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน