พระนครศรีอยุธยา - อดีตพนักงานโรงงานในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ เมืองกรุงเก่า ผันตัวเองมาทำเกษตรสวนผสม ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวง ปลูกดอกดาวเรือง ฝันสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ขณะที่ประชาชน และนักท่องเที่ยวสนใจขอเข้าถ่ายภาพ
วันนี้ (11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า มีการปลูกดาวเรืองในทุ่งหมู่ที่ 5 ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จนกลายเป็นที่สนใจมีคนเข้าไปถ่ายภาพ เนื่องจากมีความสวยงามเหมือนกับทุ่งทานตะวัน จึงเดินทางไปตรวจสอบพบบริเวณกลางทุ่งหลังหมู่บ้านทองธรณี ห่างจากถนนสายอยุธยา-บางปะอิน สายเก่าประมาณ 500 เมตร มีทุ่งดอกดาวเรืองสีเหลืองอร่ามเต็มทุ่ง มีประชาชน และนักท่องเที่ยวพากันเข้าไปชม และขอถ่ายภาพด้วยความสนใจ พบว่าบริเวณข้างเคียงกำลังมีการไถ และรดน้ำต้นกล้าที่เพิ่งลงใหม่อีกหลายแปลง
นายปราโมทย์ แบนประเสริฐ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30/30 หมู่ 5 ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าของทุ่งดาวเรือง เปิดเผยว่า เดิมตนเคยเป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
ต่อมา ประมาณปี 2537-38 ตนได้ตัดสินใจลาออกจากงานมาลงทุนเปิดร้านขายอาหารอยู่ริมถนนสายอยุธยา-บางปะอิน สายเก่าปากทางเข้าทุ่งดาวเรือง ชื่อร้านชายนา ต่อมา เมื่อปี 2554-2555 ได้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ทุกคนได้รับความเดือดร้อน ร้านขายอาหารของตนก็ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายทำให้ตนต้องเลิกกิจการไป
จนกระทั่งเมื่อปี 2256 ที่ผ่านมา ตนได้พบว่าดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่ประชาชนนิยมใช้ในงานมงคล และการบูชาพระ น่าจะเป็นดอกไม้เศรษฐกิจ ตนจึงศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากทางอินเทอร์เน็ตจนกระทั่งตัดสินใจเช่าที่ดินของญาติ จำนวน 12 ไร่เศษ ลงทุนจำนวน 6 แสนกว่าบาท ใช้เวลาเก็บดอกประมาณ 45 วันในแต่ละรุ่น ซึ่งได้เก็บผลผลิตไปแล้ว 3 รุ่น ได้ดอกรุ่นละ 1 หมื่นดอก ขายดอกละ 80 สต. มีแหล่งรับซื้อแน่นอน ทำให้มีรายได้เสริมขึ้นมาอีกทาง โดยการปลูกแปลงหนึ่งสามารถตัดดอกได้ถึง 10 ครั้งต่อรุ่น
นายปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในหลวง โดยใช้พื้นที่ 12 ไร่นี้ให้เป็นประโยชน์ นอกจากปลูกดอกดาวเรืองแล้ว ยังแบ่งปลูกดอกมะลิ 1 แปลง ปลูกผักสวนครัว 1 แปลง และอีก 1 ไร่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา พร้อมเป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้รดดอกไม้และผัก
“หลังจากที่มีประชาชน และนักท่องเที่ยวทราบข่าวต่างพากันมาเที่ยวชม และขอถ่ายภาพ ซึ่งหลายคนบอกว่าเหมือนกับทุ่งทานตะวัน จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี แต่ทุ่งดาวเรือง จะมีดอกทั้งปี ซึ่งในอนาคตตนจะไปปรึกษากับทางท้องถิ่นในการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นต่อไป”