เลย - "ลูกหาบ" ยังจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการเดินเท้าขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติบนยอดภูกระดึง เผยรายได้จากการรับจ้างแบกสัมภาระ จูงใจให้ชาวบ้านหันมายึดเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาทำไร่กันมากขึ้น หน้าหนาวปีมีขึ้นทะเบียนถึง 363 ราย หลายครอบครัวมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ส่งลูกเรียนหนังสือจนจบ และไม่น้อยพอใจที่ได้ทำงานอยู่กับบ้าน ไม่ต้องเร่ขายแรงในเมืองใหญ่
"ฤดูท่องเที่ยว" หรือช่วง "ไฮซีซัน" หน้าหนาวทุกปี อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อ.ภูกระดึง จ.เลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆของไทย ที่มีแรงดึงดูดผู้คนมากมาย โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวจากทั่วสารทิศ พากันเดินทางมาแสวงหาความท้าทาย สัมผัสความสวยงาม และอากาศที่หนาวเย็นบนภูเขายอดตัดรูปหัวใจ
แต่การปีนเขาขึ้นสัมผัสความงามของธรรมชาติบนยอดภูกระดึง ต้องอาศัยความแข็งแกร่งทั้งกายและใจ เพื่อขึ้นสู่เป้าหมายด้วยระยะทางราว 8 กิโลเมตร แต่ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง เมื่อเดินขึ้นสู่ยอดภูสำเร็จ นักท่องเที่ยวต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง"
ท่ามกลางขบวนหนุ่มสาวที่กำลังขึ้นสู่ยอดภูนั้น "ลูกหาบ" เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเดินเท้าขึ้นภูกระดึง และปัจจุบันได้กลายเป็นอาชีพที่เป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึงไปแล้ว โดยมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบภูกระดึงจำนวนไม่น้อย ที่หันมาหารายได้จากการเป็นลูกหาบเป็นอาชีพเสริม หลังว่างเว้นจากการทำนาทำไร่
หลายครอบครัวยึดอาชีพนี้มานานหลายสิบปี จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก หลายครอบครัวพากันรับจ้างแบกสัมภาระให้นักท่องเที่ยวกันทั้งบ้าน
อย่างกรณีนายสมยศ ผอมโพธิ์ อายุ 46 ปี และนางวงเดือน บัวสา อายุ 36 ปี สองสามีภรรยาชาวต.ภูกระดึง ยึดอาชีพลูกหาบมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว มีรายได้ส่งเสียเลี้ยงดูลูกทั้ง 3 คนได้อย่างไม่ขัดสน
สองสามีภรรยาคู่นี้ เล่าว่า เริ่มทำอาชีพนี้ตั้งแต่ลูกคนโตอายุเพียง 7 ขวบ ปัจจุบันเป็นหนุ่มอายุ 19 ปี กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย โดยอาชีพลูกหาบทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำนา ทำไร่ ปลูกผักขาย วันไหนที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก สองคนผัวเมียมีรายได้รวมกันวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มากพอสมควรสำหรับชาวบ้านแถบนี้ แม้จะต้องแลกกับความเหน็ดเหนื่อยทั้งวันก็ตาม
ปัจจุบันราคาค่าจ้างแบกหาบสิ่งของให้นักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 30 บาท แม้เป็นงานที่ต้องใช้กำลังกายมาก เนื่องจากสัมภาระที่หาบแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม ย่อมทำให้ร่างกายต้องได้รับผลกระทบ เจ็บปวดตามข้อเข่า แขนขาบ้าง แต่ก็ยังทนได้ และมีความสุขที่ได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องอพยพออกไปหารับจ้างในต่างจังหวัด
"อย่างน้อยพวกเราก็ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อ แม่ ลูก มีความสุขกันดี เหนื่อยแค่ไหนก็ยอม เพราะทำแล้วมีความสุข พอใจแล้วกับชีวิตทุกวันนี้"
ล่าสุด มีตัวเลขชาวบ้านที่มาขึ้นทะเบียนเป็นลูกหาบกับทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึง 363 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 17 คน เนื่องจากปีนี้จ.เลย โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นมากกว่าทุกปี และหนาวเย็นติดต่อกันนานกว่าปีก่อนๆ จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนบนยอดภูกระดึงจำนวนมาก
รายได้จากการเป็น "ลูกหาบ" จึงหอมหวาน จูงใจให้ชาวบ้านหันมาทำอาชีพนี้กันมากขึ้น!!!