ศูนย์ข่าวขอนแก่น
ขณะที่ชาวนาทั่วไทยต้องออกมากินนอนบนท้องถนน บ้างก็ปิดล้อมศาลากลางจังหวัด ยื่นเรื่องฟ้องร้อง-ถวายฎีกา หลั่งน้ำตาทวงเงินค่า “จำนำข้าว” จากรัฐบาลปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ติดค้าง และผัดวันประกันพรุ่งมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 มาจนถึงทุกวันนี้
แต่ชาวนากาฬสินธุ์ โดยเฉพาะพื้นที่ ต.โนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย กลับไม่ต้องพึ่งพิงนโยบายประชานิยม “จำนำข้าว” ของรัฐบาล
เพราะชาวนาที่นี่นำข้าวขายให้โรงสีพระราชทาน ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ 9 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นมา
นายจุลฑะ วรรณจักร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โรงสีข้าวพระราชทาน เกิดประโยชน์ต่อชาวนากาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียงมาก ทำให้ขายข้าวเปลือกได้ราคาเป็นธรรม ไม่ถูกหักค่าต่างๆ มากเหมือนขายให้พ่อค้าคนกลาง
หรือแม้ว่าจะมีโครงการจำนำข้าวที่ให้ราคาสูงตันละ 15,000 บาท หอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท แต่เมื่อนำไปขายโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ-พ่อค้าคนกลางแล้ว จะถูกหักจิปาถะ ทั้งค่าความชื้น ค่าเหยียบเบรก สิ่งเจือปน โกงตราชั่ง ฯลฯ ทุกวันนี้เต็มที่ก็ขายกันได้ตันละ 11,000-12,000 บาท หรือหอมมะลิ ก็ได้เพียง 14,000 กว่าบาทเท่านั้น บางราย บางพื้นที่ทนไม่ไหวตัดขายโรงสีเป็นเงินสด ได้กันแค่ตันละ 6,000 บาท
นายจุลฑะ บอกว่า ก่อนหน้าที่ยังไม่มีโรงสีข้าวพระราชทาน ชาวนาต้องนำข้าวเปลือกไปขายให้โรงสีเอกชน จะถูกหักสารพัด ทั้งความชื้น สิ่งเจือปน ตราชั่งแข็ง มีค่าเหยียบเบรกจ่ายให้คนขับรถ ที่สำคัญไม่ยอมบอกราคารับซื้อก่อน เมื่อชั่งเสร็จบอกราคามาแล้ว ชาวนาต้องจำยอมขายข้าวให้โรงสีไป ซึ่งราคาขายข้าวเปลือกมักต่ำกว่าปกติ
“บางครั้งข้าวเปลือกหอมมะลิขายได้ไม่ถึงตันละ 12,000 บาททั้งที่ราคาจำนำระบุไว้ตันละ 20,000 บาท”
และเมื่อมีปัญหาจากโครงการจำนำข้าวเปลือก ทำให้ชาวนา ต.โนนศิลาเลิง บางส่วนที่เอาข้าวเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลเดือดร้อน ต้องกู้เงินนอกระบบมาประทังชีวิต หารือกันแล้วว่า ผลผลิตข้าวเปลือกในปีการผลิตหน้า จะไม่นำเข้าโครงการจำนำของรัฐ แต่จะนำข้าวเปลือกมาขายให้โรงสีข้าวพระราชทานแทน เพราะได้ราคาที่เป็นธรรม ได้รับเงินค่าข้าวทันที
ที่สำคัญคือ ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะไม่ได้เงินค่าจำนำข้าวมาจนถึงวันนี้
เขาเชื่อว่า จะมีชาวนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 นำผลผลิตข้าวขายให้โรงสีข้าวพระราชทาน ทั้งจะมีชาวนาจากพื้นที่อื่นหันมาพึ่ง “โรงสีข้าวพระราชทาน” ด้วยเช่นกัน
นายเรืองเดช พละเดช ผู้จัดการโรงสีข้าวพระราชทาน เปิดเผยว่า โรงสีข้าวพระราชทาน เกิดขึ้นจากปัญหาชาวนาถูกโรงสีเอาเปรียบ กดราคาซื้อข้าว สมัยนั้นหลวงพ่อถาวร จิตตถาวโร (พระเทพวิมลญาณ) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ซึ่งพื้นเพเป็นคนบ้านโนนศิลาเลิง ต้องการแก้ปัญหา จึงได้ถวายพระพรขอพระราชทานโรงสีข้าว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 6.82 ล้านบาท สร้างโรงสีขึ้นที่บ้านโนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์
“โรงสีข้าวพระราชทาน บ้านโนนศิลาเลิง” เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเมืองสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลวงพ่อถาวร เป็นประธานอุปถัมภ์อำนวยการ เพื่อสนองงานตามแนวพระราชดำริ ให้เป็น “โรงสีแห่งความสุขร่วมกัน” เพื่อประโยชน์ของชาวนาในพื้นที่ให้ขายข้าวได้ราคาเป็นธรรม มีสมาชิกสหกรณ์การเกษตรพื้นที่ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ และใกล้เคียงกว่า 2,500 ราย รวบรวมผลผลิตข้าวเปลือกจากชาวนาทั่วไป ให้โรงสีข้าวพระราชทาน ตามราคาตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศไว้
การดำเนินงานโรงสีข้าวจะทำแบบครบวงจร ตั้งแต่รับซื้อข้าวเปลือก แปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง และส่งต่อให้สหกรณ์บริการถาวรพัฒนา จำกัด ที่กรุงเทพฯ เป็นผู้จัดจำหน่าย และหาตลาด ภายใต้แบรนด์ “โรงสีข้าวพระราชทาน”
ซึ่งปัจจุบันข้าวสาร “โรงสีข้าวพระราชทาน” มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ ทั้งเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, ท็อปส์ รวมถึงส่งให้แก่ผู้ส่งออกต่างประเทศด้วย รวมแล้วแต่ละปีมากกว่า 3,000 ตัน
นายเรืองเดช บอกว่า โรงสีข้าวพระราชทาน ไม่เอากำไรสูง ไม่ขาดทุน ให้โรงสีพออยู่ได้ มุ่งช่วยชาวนาให้ขายข้าวเปลือกราคาเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบชาวนาเหมือนโรงสีข้าวทั่วไป ชาวนาขายข้าวที่นี่จะไม่มีค่าเหยียบเบรก ไม่หักค่าความชื้น สิ่งเจือปน จะดูเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวเป็นหลัก ตราชั่งได้มาตรฐาน มีชั่งตวงวัดมาตรวจสอบประจำ
นอกจากนี้ โรงสีข้าวพระราชทาน ที่มีกำลังผลิตที่ 60 ตัน/วัน แต่ปัจจุบันผลิตที่ประมาณวันละ 28-30 ตัน ยังพยายามลดต้นทุนด้วยการสีข้าวใช้ไฟฟ้าแบบ TOU ในช่วงเวลาที่การไฟฟ้าให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าลงกว่าช่วงปกติ โดยวันจันทร์-ศุกร์ จะสีข้าวช่วงกลางคืน 22.00-06.00 น. ส่วนเสาร์-อาทิตย์ จะสีข้าวได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าลงมากกว่าครึ่ง แต่หากสหกรณ์บริการถาวรพัฒนา มีออเดอร์เพิ่ม จะสีข้าวเพิ่มในช่วงเวลาปกติด้วย
ขณะเดียวกัน การสีข้าว ก็มีข้าวสารหัก แกลบ รำ ที่ไม่ได้ส่งไปยังสหกรณ์บริการถาวรพัฒนา ทางโรงสีข้าวพระราชทาน ก็จะนำไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ และคนในพื้นที่ เป็นรายได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้พนักงานโรงสี ซึ่งล้วนเป็นคนพื้นที่โนนศิลาเลิง
“ชาวนาที่เอาข้าวเปลือกมาขายที่โรงสีฯ จึงได้ราคาสูง ใกล้เคียงโครงการจำนำข้าว แต่ที่นี่รับเงินสดทันที” นายเรืองเดช กล่าว
ในปีการผลิต 56/57 ที่รัฐบาลมีโครงการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทต่อเนื่อง ชาวนาในกาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งมหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด นำข้าวเปลือกมาขายที่โรงเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เนื่องจากชาวนาต้องการเงินสดไปชำระหนี้ และใช้ในชีวิตประจำวัน
และเชื่อว่าฤดูกาลผลิตหน้าปี 57/58 จะมีชาวนาอีสาน นำข้าวเปลือกมาขายเพิ่มอีกมาก เพราะชาวนาไม่มั่นใจในโครงการจำนำข้าว ที่กำลังเป็นปัญหาจนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า