ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายปกากะญอจัดเวทีแลกเปลี่ยน วางแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิ และให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียม ทั้งด้านกฎหมาย วิถีชีวิต และการเข้าถึงทรัพยากร
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มชาติพันธุ์ปกากะญอ ร่วมกันจัดงานเสวนา “มุมมองและข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์ปกากะญอ ต่อทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีตัวแทนจากภาคีเครือข่ายด้านทรัพยากร ด้านการศึกษา ด้านการเกษตร และด้านสุขภาพ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กำหนดแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยของกลุ่มชาติพันธุ์
นายพฤ โอโดเชา คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า จุดยืนท่ามกลางความขัดแย้งในประเทศเวลานี้ โดยส่วนตัวไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือรัฐบาล โดยสิ่งที่ต้องการเรียกร้องคือ การตระหนักถึงสิทธิและคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้นกว่าเดิม เพราะการเรียกร้องที่ผ่านมาแทบจะไม่เป็นผลเลย ทำให้การขับเคลื่อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการเรียกร้องสิทธิ 5 ด้าน คือ ทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา การเกษตร และสุขภาพ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชน และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
หากในอนาคตจะมีการปฏิรูปประเทศขอให้มีการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปของกลุ่มชาติพันธุ์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งประเด็นที่มีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิชุมชน การจัดการทรัพยากรที่ชาวบ้านต้องมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายต้องมีการแก้ไข และต้องได้รับสิทธิในที่ดินทำกิน เปลี่ยนให้รัฐบาลมาเป็นผู้สนับสนุนการศึกษา ส่วนเรื่องของการเกษตรผูกขาดที่มีการใช้สารเคมีนั้น ต้องสนับสนุนภาคการเกษตรให้เหมาะสมกับป่า ต้องยอมรับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตามกฎหมาย และโครงการใหญ่ของทางรัฐบาล หรือโครงการนานาชาติที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชนเผ่า ขอให้มีการยกเลิกทันที โดยจะต้องยอมรับสิทธิตามกฎหมาย
ขณะที่ ดร.ชยันต์ วรรธนภูติ นักวิชาการประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา แสดงความเห็นว่า ประเด็นเรื่องของสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องให้ความใส่ใจ โดยเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. สิทธิในที่ดินทำกิน 2. ความมั่นคงทางอาหารบนพื้นที่สูง 3. การกระจายอำนาจ และ 4. การศึกษา ที่ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง
ข่าวแจ้งว่า การเสวนาครั้งนี้ทางเครือข่ายหวังจะให้เป็นจุดเริ่มต้นของการหาแนวทางในการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นความสำคัญในเรื่องของสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามักถูกละเลยและมองข้ามมาโดยตลอด