เชียงราย - ชาวนาเมืองพ่อขุนฯ แห้วซ้ำซาก หลังจังหวัดฯ เลื่อนจัดประชุมหาทางออกเงินจำนำข้าววันนี้ (25 ม.ค.) ออกไปอย่างไร้กำหนด อ้างไม่พร้อมจัดประชุม ทำแกนนำชาวนาที่ออกจากบ้านแล้วต้องหันรถกลับ แถมเจอปล่อยข่าวเป็นแนวร่วม กปปส.สกัดมวลชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน
วันนี้ (25 ม.ค.) สภาเกษตรกร จ.เชียงราย ได้กำหนดจะจัดให้มีการประชุมสมาชิกวิสามัญทั่วจังหวัด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 คน เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาการไม่ได้รับเงินตามโครงการรับจำนำข้าว ปี 2556/57 แต่ล่าสุด ได้ถูกยกเลิกไป แม้ทาง นายกิตติพงษ์ ฉัตรหลวง ประธานสภาเกษตรกร จ.เชียงราย จะแจ้งให้สมาชิกตามอำเภอต่างๆ ได้รับทราบแล้วก็ตาม เนื่องจากได้รับการประสานจากทางจังหวัดให้แกนนำไปร่วมประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันที่ศาลากลางจังหวัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมาย ปรากฏว่า ทางจังหวัดฯ ได้แจ้งยกเลิกการประชุมชั่วคราวเนื่องจากไม่มีความพร้อมในการจัดการประชุม ทำให้ผู้บริหาร และสมาชิกสภาเกษตรกร จ.เชียงราย ซึ่งบางส่วนเป็นแกนนำกลุ่มชาวนาที่เคยออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องเงินค่าจำนำมาก่อนหน้านี้ต้องเดินทางกลับ ทั้งที่หลายคนเดินทางออกจากบ้านจนเกือบจะไปถึงอาคารศาลากลางจังหวัดแล้ว
ส่งผลทำให้ไม่มีการประชุมเพื่อหาทางออกกรณีชาวนาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวดังกล่าว และไม่มีการประชุมสภาเกษตรกร จ.เชียงราย ไปพร้อมๆ กัน
ขณะที่บรรดาแกนนำชาวนาบางส่วนหันไปประชุมนอกรอบเพื่อหาวิธีการเคลื่อนไหว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากได้รับความกดดันจากกระแสนิยม และความฝักใฝ่ทางการเมืองอย่างหนัก ทำให้การเคลื่อนไหวที่จะกระทบไปถึงรัฐบาลถูกยับยั้งตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน โดยบางครั้งเป็นการกล่าวหาเป็นพวกเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ด้วย
สำหรับ จ.เชียงราย มีพื้นที่เพาะปลูกข้าว จำนวน 1.3 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 9.1 แสนตัน มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนจำนำข้าว จำนวน 89,948 ราย ปริมาณข้าว 397,003,125 ตัน รวมวงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินให้แก่ชาวนาไปแล้ว จำนวน 3,520 ล้านบาท ทำให้ยังคงมียอดค้างจ่ายอีกประมาณ 2,765 ล้านบาท
นายกิตติพงษ์ ฉัตรหลวง ประธานสภาเกษตรกร จ.เชียงราย กล่าวว่า ตอนนี้ชาวนาเดือดร้อนกันมาก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหาเงินมาจ่ายค่าข้าวให้แก่ชาวนาโดยด่วนด้วย การที่เราจะไปกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.ก็ต้องนำใบประทวนที่ได้รับแล้วไม่ได้เงินค่าจำนำไปขอกู้ ในสัดส่วน 20% ของมูลค่า แต่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยอีก 7% ต่อปี ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อชาวนาเลย