“จาตุรนต์” มาตามนัด โพสต์เฟซบุ๊ก ค้านแถลงการณ์ทางออกประเทศ 3 ข้อของวุฒิสภา ระบุไร้เหตุผล ไม่เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะบุคคล องค์กรที่เข้าร่วมแสดงความเห็นกับวุฒิสภาก็เป็นพวกเดียวกันที่ขวางการเลือกตั้ง จึงไม่เป็นที่ยอมรับ เหน็บ “สุเทพ” อยู่ในในภาวะอิหลักอิเหลื่อ กับแนวทางวุฒิฯ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กโจมตีข้อเสนอ 3 ข้อ ที่ประชุมวุฒิสภานอกรอบว่า แม้จะอ้างว่าเป็นความพยายามที่จะหาทางออก หรือแก้วิกฤตของชาติ แต่ข้อเสนอเหล่านี้ เป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ข้อเสนอข้อที่ 1 ที่ให้แก้ปัญหาวิกฤตของชาติ คืนความสงบสุข ความสมานฉันท์โดยเร็ว พร้อมจัดปฏิรูปทุกด้าน โดยให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มนั้น ไม่อาจทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้จำกัดอำนาจของคณะรัฐมนตรีไว้ เพราะเห็นว่าเป็นรัฐบาลรักษาการที่ต้องรอให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เข้ารับหน้าที่ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินโครงการใหม่ กำหนดนโยบายใหม่ๆ หรือมีมติคณะรัฐมนตรีที่มีผลผูกพันไปยังรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ระหว่างรักษาการ ยังมีอำนาจอย่างจำกัด จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ที่จะหาคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่และมีอำนาจเต็ม มาทำหน้าที่เหมือนกับคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
ข้อเรียกร้องที่ 2 ที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีและพรรคการเมืองทุกพรรค ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภา เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม งดเงื่อนไขรุนแรงเพิ่มเติม ในประเด็นนี้คิดว่าคณะรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ คงจะพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพราะเราก็ไม่ต้องการเพิ่มเงื่อนไขความรุนแรง ยินดีที่จะช่วยกันลดเงื่อนไขความรุนแรง เพียงแต่สมาชิกวุฒิสภาที่ประชุมหารือกันอยู่นี้ต่างหาก ที่ควรจะระมัดระวังไม่เพิ่มเงื่อนไขความรุนแรงเสียเอง ด้วยการไม่กระทำการใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย
ข้อที่ 3 ที่บอกว่าวุฒิสภาพร้อมทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่อง และจะนำข้อเสนอของทุกภาคส่วนมาประกอบ โดยวุฒิสภาอาจใช้ข้อบังคับประชุมวุฒิสภา เปิดประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีภายใต้ประเพณีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็วนั้น ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย รวมทั้งประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างชัดเจน
วุฒิสภาไม่สามารถใช้ข้อบังคับของวุฒิสภา เปิดประชุมตามอำเภอใจได้ การประชุมต้องมีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดประชุม และตามรัฐธรรมนูญนั้น หลังจากยุบสภาแล้วไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใด ที่กำหนดให้วุฒิสภาสามารถเปิดประชุม เพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้
นอกจากนั้น ที่อ้างว่า เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีภายใต้ประเพณีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็วนั้น นอกจากขัดรัฐธรรมนูญที่ไม่มีกำหนดไว้ให้วุฒิสภาทำหน้าที่นี้ แล้วยังขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย ในประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา เมื่อมีการยุบสภา ก็ต้องให้มีการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีจะมาหลังการเลือกตั้งแล้ว ไม่มีประเพณีที่ไหนที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่สรรหานายกรัฐมนตรี ทั้งโดยรัฐธรรมนูญ และประเพณีปฏิบัติ เมื่อมีการยุบสภาแล้ว ก็ต้องให้มีการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้าพูดถึงประเพณีก็อาจจะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. ก็ได้ ไม่เป็น ส.ส. ก็ได้ แต่ไม่เคยมีที่จะให้วุฒิสภาเป็นผู้สรรหานายกรัฐมนตรี และหากยึดถือรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จะต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น
นายจาตุรนต์ ระบุว่า ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อนี้ มาจากข้ออ้างง่ายๆ ว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ แต่ด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน นำไปสู่การกระแสคัดค้านการเลือกตั้ง และขณะนี้รัฐบาลกับ กกต.ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งครั้งต่อไปได้แน่นอน ไม่อาจคาดเดาได้ว่า จะมีสภาผู้แทนราษฎรอีกเมื่อไหร่ จากข้ออ้างง่ายๆ อย่างนี้ จึงนำไปสู่ข้อเสนอ 3 ข้อ จะเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย เมื่อยุบสภาต้องมีการเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้ง จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกันเร่งรัดให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว การที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ไม่เป็นเหตุผลที่จะให้มีการกระทำนอกรัฐธรรมนูญ อย่างที่เสนอกันอยู่
นายจาตุรนต์ ยังฝากไปยังสมาชิกวุฒิสภาทั้งหลายว่า พวกท่านทั้งหลายกำลังจะลงมติถอดถอนประธานวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาหลายสิบคน ต่อไปก็อาจจะถอดถอนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกนับ 100 คน ด้วยเหตุที่บุคคลเหล่านี้ ถูกกล่าวหาว่ากระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ในหลายกรณี เช่น กรณีประธานวุฒิสภา ส.ว. และ ส.ส. การถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือชี้มูลนั้น เกิดจากความพยายามแก้รัฐธรรมนูญตามกลไกรัฐสภา ซึ่งกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา การใช้อำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับกำลังจะถูกพวกท่านถอดถอน
ในขณะเดียวกัน พวกท่านบางส่วนกำลังจะเสนอข้อเรียกร้อง หรือกำลังกระทำการที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง พวกท่านจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร การกระทำของพวกท่านทั้งหลาย จะมีความชอบธรรมได้อย่างไร
นายจาตุรนต์ ยังโพสต์อีกว่า สำหรับกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. กับพวก มีความไม่พอใจผลสรุปการประชุมของสมาชิกวุฒิสภานั้น คิดว่า นายสุเทพกับพวกคงอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อมาก ถ้าเอาตามข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภา ก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ กระแสคัดค้านก็อาจจะมากขึ้น แต่ถ้าไม่เอาตามข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้เสียเลย ต้องไปทำอะไรเองตามลำพัง ก็ไม่แน่ว่าจะมีคนสนับสนุน ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ขนาดข้อเสนอของวุฒิสภาที่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างนี้แล้ว นายสุเทพกับพวกก็ยังไม่เห็นด้วย แสดงว่าสิ่งที่นายสุเทพและพวกต้องการนั้น จะต้องเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักการประชาธิปไตยยิ่งกว่าข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้เสียอีก
นายจาตุรนต ระบุว่า สิ่งที่อยากจะแสดงความคิดเห็นเป็นประการสุดท้าย ก็คือ การที่สมาชิกวุฒิสภาได้เชิญประชุมนอกรอบ โดยมีหลายกลุ่มหลายองค์กรมาร่วมประชุมนั้น ดูผิวเผินอาจจะรู้สึกว่าเป็นความคิดเห็นของหลายฝ่าย แต่ความคิดเห็นของหลายฝ่ายนี้ แท้จริงแล้วก็เป็นกลุ่มคนพวกเดียวกันเสียเป็นส่วนใหญ่ คือ เป็นพวกที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง เป็นพวกที่ไม่ยอมรับนับถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ยิ่งกว่านั้น แม้จะมีหลายกลุ่มหลายองค์กรก็ตาม เมื่อเทียบกับประชาชนทั้งประเทศแล้ว เป็นเพียงกลุ่มคนหยิบมือเดียว โดยเฉพาะเมื่อข้อเรียกร้องและข้อเสนอของกลุ่มองค์กรเหล่านี้ ปฏิเสธการเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้ง และเลือกที่จะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ให้ได้นายกฯซึ่งไม่ได้มีการยึดโยงอะไรกับประชาชน หากแต่เป็นนายกฯที่อยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มองค์กรเหล่านี้ ย่อมหมายความว่า การประชุมนอกรอบของกลุ่มองค์กรเหล่านี้ แม้จะมีหลายฝ่ายหลายกลุ่มมาร่วมกัน ก็หาความชอบธรรมอะไรไม่ได้ เทียบกับประชาชนทั้งประเทศ หรือผู้ที่ที่พร้อมจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศแล้ว คนเหล่านี้ กลุ่มองค์กรเหล่านี้ ก็เป็นเพียงกลุ่มคนน้อยนิดเท่านั้นเอง