เชียงราย - ชาวนาเมืองพ่อขุนฯ เจอวิชามารสกัด หลังรวมตัวชุมนุมทวงเงินจำนำข้าว กลับถูกปล่อยข่าวเป็นชาวนาเทียม-รับเงิน กปปส.หัวละพัน-เอี่ยวการเมือง ฯลฯ ทั้งที่เป็นเขตฐานเสียงพรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดงเกือบเต็มพื้นที่
หลังกลุ่มชาวนาในจังหวัดเชียงรายรวมตัวชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 57 ที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องเงินค่าจำนำข้าว ตามโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 ปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ชาวนาเคลื่อนไหวกลับมีการปล่อยข่าวกันตามชุมชนต่างๆ โจมตีว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ชาวนาที่มาชุมนุมไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว ฯลฯ
แกนนำชาวนาที่ออกมาเคลื่อนไหวคนหนึ่งกล่าวว่า ตอนที่ชาวนาชุมนุมกันเมื่อ 20 ม.ค. 57 สร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะรู้กันดีว่าเชียงรายเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ก็มีชาวนาออกมาเคลื่อนไหว
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพวกเราต้องการเรียกร้องตามสิทธิของเราอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพราะนำข้าวเข้าโครงการรับจำนำกับรัฐบาล และต้องการได้เงินคืนเพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการทำนาปรังฤดูแล้งนี้ต่อไป รวมทั้งยืนยันว่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการชุมนุมปิดถนนหรือยึดสถานที่ราชการ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวของมวลชนทางการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ เลย
แต่ปรากฏว่ามีการปล่อยข่าวใส่ร้ายชาวนาว่าไปรับเงินจาก กปปส.หัวละ 1,000 บาทเพื่อนำมาชุมนุม ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงส่วนกลางกล่าวหาว่าพวกตนเป็นชาวนาเทียม
แกนนำชาวนายอมรับว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องเงินค่าจำนำข้าวใน จ.เชียงรายเป็นเรื่องยาก เพราะผูกพันกับผู้นำท้องถิ่น หัวคะแนน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ยังรักและรู้สึกมีบุญคุณกับนักการเมืองกันอยู่ เมื่อออกมาเรียกร้องเรื่องพื้นฐาน คือเงินจำนำข้าว ก็มักจะถูกกีดกันตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน จากนั้นก็ถูกบิดเบือนให้เป็นความผิดของ กกต.หรือกลุ่ม กปปส.ที่ชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งในระดับแกนนำเราทราบดีว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากองค์กรเหล่านั้น แต่เกิดจากรัฐบาลที่มีมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาให้รับจำนำและดำเนินการเรื่อยมาจนได้ข้าวมากกว่า 8 ล้านตัน
แกนนำชาวนายังระบุด้วยว่า แม้แต่สำนักงานข่าวบีบีซี ของอังกฤษก็โทรศัพท์มาสอบถามแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาเชียงราย โดยแจ้งชาวนาว่าให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แต่กลับมีการออกมาชุมนุมเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งกลุ่มชาวนาให้เหตุผลว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับ กกต.หรือ กปปส. แต่เป็นการเรียกร้องเงินจากโครงการของรัฐบาลที่กำหนดเอาไว้ก่อนจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว
เมื่อถูกถามว่ามวลชนมีแนวคิดอย่างไร บรรดาแกนนำก็ยอมรับว่ามีความคิดอยู่ 2 แนวทางเหมือนกัน คือ เห็นว่าความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากรัฐบาลโดยตรง และอีกส่วนเห็นว่าเกิดจาก กกต.และ กปปส.ที่ชุมนุมกันอยู่ แต่ในหมู่แกนนำทราบกันดีว่าการเรียกร้องครั้งนี้ผู้เดือดร้อนมีทั้งคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง และหลากหลาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางการเมืองเลย
“ถ้ารัฐบาลขายข้าวได้ในราคาเพียงครึ่งเดียวก็คงจะไม่เดือดร้อนหนักอย่างนี้ แต่กลับไม่สามารถชี้แจงบัญชีได้ว่าข้าวมากกว่า 50% หายไปไหน และบัญชีการเงินจากการขายเป็นอย่างไร เมื่อชาวนาออกมาชุมนุมเรียกร้องขอเงินหรือแม้แต่ขอข้าวคืนก็ไม่มีให้ แต่กลับออกมากล่าวหาใส่ร้ายชาวนาแทน ทำให้พวกเราจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด”
ล่าสุดกลุ่มชาวนาเชียงรายได้พยายามจัดการประชุมสภาเกษตรกร จ.เชียงรายขึ้นเพื่อหาข้อสรุปในการเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากการชุมนุม 20 ม.ค. 57 ที่ผ่านมาไม่ได้ข้อยุติใดๆ เพราะรัฐบาลไม่มีเงินที่จะจัดสรรมาให้ และหลังจากที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันเดียวกันแล้ว อีกวันก็ได้รับคำตอบจาก กกต.กลางว่า ไม่มีอำนาจในการให้กู้ยืมเงินของรัฐบาลเพื่อนำไปจ่ายให้ชาวนาทั่วประเทศตามโครงการดังกล่าว
โดยกลุ่มชาวนาได้นัดประชุมสภาเกษตรกร จ.เชียงราย ที่สำนักงานสภาฯ ชุมชนสันตาลเหลือง ต.ริมกก อ.เมือง ในวันที่ 25 ม.ค. 57 นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป เพื่อหาทางออก และอาจมีการชุมนุมเคลื่อนไหวกันอีกครั้ง
แต่ปรากฏว่าฝ่ายปกครองจังหวัดฯ ได้แจ้งขอให้แกนนำชาวนาไปร่วมประชุมหารือกันที่ศาลากลางจังหวัดฯ แทน แต่กำหนดให้เข้าประชุมเฉพาะแกนนำเท่านั้น โดยอ้างว่าเป็นห่วง จนทำให้สภาเกษตรกร จ.เชียงรายต้องยกเลิกการประชุมตามกำหนดการเดิมลงชั่วคราว
สำหรับโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 ในพื้นที่เชียงรายนั้น กลุ่มชาวนาระบุว่า มีมูลค่าข้าวที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 8,225 ล้านบาท ที่ผ่านมามีการจัดสรรให้แล้ว 3,994 ล้านบาท คงค้างอีกประมาณ 60% หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท
ขณะที่สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงรายระบุว่า มีชาวนาเข้าร่วมโครงการจำนำข้าว 83,745 ราย จำนวนข้าว 396,426.203 ตัน และเป็นชาวนาที่ลงทะเบียนผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 58,607 ราย วงเงิน 6,259 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.มีการจัดสรรให้แล้ว 7 งวด รวมเป็นเงิน 3,504 ล้านบาท ปัจจุบันคงเหลือยอดที่ลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส.ประมาณ 26,700 ราย ปริมาณข้าว 138,840 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,937 ล้านบาท และแจ้งอีกว่าหากชาวนาคนไหนเดือดร้อนเรื่องนาปรังก็สามารถนำใบประทวนไปขอกู้ยืมเงินได้ 20% โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7