xs
xsm
sm
md
lg

สยามมิชลิน จัดงานฉลองครบรอบ 25 ปี โรงงานแหลมฉบัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สยามมิชลิน จัดงานฉลองครบรอบ 25 ปี โรงงานแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ฐานการผลิตใหญ่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 25 ปีที่ผ่านมา ผลิตยางรถยนต์ป้อนตลาดเอเชียได้ถึง 80 ล้านเส้น

วันนี้ (19 ธ.ค.) บริษัท สยามมิชลิน จำกัด จัดงานฉลองครบรอบ 25 ปี โรงงานสยามมิชลินแหลมฉบัง ต.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี มร.นิโคลัส จอห์น วอล์คเกอร์ ผู้อำนวยการโรงงาน เป็นประธานตัดเค้กฉลอง ร่วมกับผู้บริหาร และพนักงานของโรงงาน และมีนางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรี เทศบาลนครแหลมฉบัง ตัวแทนชุมชนโดยรอบเข้าร่วมแสดงความยินดี

โดย มร.นิโคลัส จอห์น วอล์คเกอร์ ผู้อำนวยการโรงงาน กล่าวว่า หลังจากปี 2530 ที่บริษัเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท สยามซีเมนต์ จำกัด ได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแม่พิมพ์ยางในปี 2531 ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตแม่พิมพ์แห่งแรกของมิชลินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปีแรกผลิตยางรถยนต์ได้ไม่ถึง 100 เส้น และเมื่อมีการพัฒนา และยกระดับการผลิตยางรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในวันนี้โรงงานมิชลินแหลมฉบัง สามารถผลิตยางรถยนต์ได้มากกว่า 2 หมื่นเส้นต่อวัน หรือเฉลี่ย 7 ล้านเส้นต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทแม่ในต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในศักยภาพทางการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีใช้เงินลงทุนในการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ และเครื่องจักรกลในประเทศไทยจำนวนหลายพันล้านบาท และมีการผลิตยางป้อนให้แก่มิชลิน และผลิตยางรถยนต์ป้อนให้กับยี่ห้ออื่นๆ มากกว่า 80 ล้านเส้น ซึ่งโรงงานมิชลินแหลมฉบัง ถือว่ามีความสำคัญด้านการผลิตยางรถยนต์ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก

“มิชลินมีการเติบโตด้านการผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทยตลอด 25 ปี อย่างสม่ำเสมอ โดยเรามีพนักงานใน 2 โรงงาน รวมประมาณ 2.5 พันคน และยังพบว่าอัตราการผลิตยางรถยนต์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตไม่น้อยกว่า 30-40% ขณะที่ในปี 2557 บริษัทฯ เชื่อว่าจะสามารถผลิตยางรถยนต์เข้าสู่ตลาดได้มากถึง 90% ของขีดความสามารถสูงสุดทางการผลิตที่มี”

มร.นิโคลัส ยังเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่มีผลต่อการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเชื่อว่าบริษัทแม่ยังมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในศักยภาพ และความพร้อมในทุกๆ ด้านของประเทศไทย ที่จะยังคงเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปอีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น