ลำปาง - สภาการค้าและอุตสาหกรรม สปป.ลาว นำ จนท.-นักธุรกิจแขวงตอนเหนือ หารือร่วม คสศ.-หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้า การท่องเที่ยว ลอจิสติกส์ ผ่านสะพานข้ามโขง 4 ที่จะเปิดใช้วันนี้-เส้นทาง R3a
วันนี้ (11 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ลำปางว่า คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ จัดประชุมครั้งที่ 3/2556 ขึ้นที่ห้องประชุมเบญจรงค์ โรงแรมลำปางเวียงลคอร ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
นอกจากนี้นายศุภชัยยังได้นำคณะผู้บริหาร และคณะกรรมการ คสศ. ให้การต้อนรับ ดร.สนั่น จุลมณี รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรม สปป.ลาว คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่สภาการค้า และผู้ประกอบการธุรกิจจากแขวงทางตอนเหนือของลาว เข้าร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ (ไทย-ลาว) และการประชุมร่วมระหว่างสภาการค้าและอุตสาหกรรม สปป.ลาว กับ คสศ.ด้วย
โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล หาแนวทางการลงทุนร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจของ 2 ประเทศ เพื่อจะร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ พัฒนาความมั่นคงตามแนวชายแดน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีการนำเสนอข้อมูลด้านประเพณี วัฒนธรรม สถานที่สำคัญ เพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวและการขนส่ง รองรับเส้นทาง R3a ที่จะมีการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว วันนี้ (11 ธ.ค.) อันเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า และเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือของไทย กับแขวงทางตอนเหนือของลาว และเชื่อมต่อกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนเข้าด้วยกัน
พร้อมกับเสนอข้อมูลกลุ่มงานผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ซึ่งทั้งไทยและลาวต่างมีแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมที่น่าสนใจ สามารถส่งเสริมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามเส้นทาง R3a ได้ อีกทั้งสินค้าจากประเทศไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ประชาชนลาว ดังนั้นทาง สปป.ลาวจึงจะให้ฝ่ายไทยช่วยเหลือด้านการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการผลิตสินค้าการเกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทคนิคการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้แก่ภาครัฐและเอกชนของ สปป.ลาว นอกจากนี้ สปป.ลาว สนใจที่จะจัดส่งแรงงานเข้ามาฝึกฝีมือในประเทศไทยด้วย
ขณะที่กลุ่มจังหวัดตามแนวชายแดนของไทยมีความต้องการที่จะพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ทั้งจีน อังกฤษ และภาษากลุ่มประเทศเพื่อนบ้านร่วมกันด้วย เพื่อสะดวกในการติดต่อประสานงานระหว่างประชาชนด้วยกันให้มากขึ้น
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะสรุปนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการร่วมกัน และจัดทำแผนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ ฝีมือของแรงงาน 2 ประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการขยายออกไปยังประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานในภูมิภาคให้อยู่ในระดับสากล เป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศในภูมิภาคต่อไป