พระนครศรีอยุธยา - จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดพิธีพุทธาภิเษกองค์จำลองพระอุบาลีที่ทำจากมวลสารจากอินเดีย และศรีลังกา จำนวน 1,260 องค์ นิมนต์พระเกจิชื่อในพระนครศรีอยุธยาร่วมพิธีพุทธาภิเษก 8 รูป พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเช่าบูชาราคาองค์ละ 999 บาท และ 1,299 บาท ส่วนเหรียญเนื้อทอง 99 บาท เหรียญเนื้อทอง 69 บาท และเหรียญเนื้อทองแดง 39 บาท
เมื่อเวลา 18.00 น. วันนี้ (21 พ.ย.) ที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกจำลองพระอุบาลี โดยได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 8 รูป คือ หลวงพ่อเฉลิม วัดพระญาติการาม หลวงพ่ออุดม วัดพิชัยสงคราม หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน หลวงพ่อแม้น วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อเอื้อน วัดวังแดงใต้ หลวงพ่อหวล วัดพุทไธศวรรย์ หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม และพระอาจารย์แดง วัดป้อมรามัญ ร่วมพิธีพุทธาภิเษกองค์จำลองพระอุบาลีจำนวน 1,260 องค์ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเช่าบูชาราคาองค์ละ 999 บาท และ 1,299 บาท
นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศศรีลังกา ได้มอบองค์จำลองพระอุบาลีมหาเถระแกะสลักจากไม้มะฮอกกานี เพื่อประดิษฐานไว้ในพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ ณ วัดธรรมาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 และเพื่อให้พุทธศาสนิกชน ส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ มีโอกาสบูชาสักการะอย่างทั่วถึง
ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงจัดทำองค์จำลองพระอุบาลี ขนาดความสูง 9 นิ้ว ไม่ปิดทอง ราคา 999 บาท ปิดทอง 1,299 บาท โดยหล่อด้วยกระเบื้องหลังคาศาลาการเปรียญ หลังคาโบสถ์จากวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใบโพธิ์กิ่งโพธิ์จากศรีลังกา และหน่อโพธิ์จากพุทธคยาจากประเทศอินเดีย พร้อมกันนี้ ยังจัดทำพระอุบาลีเหรียญเนื้อทอง 99 บาท เหรียญเนื้อทอง 69 บาท และเหรียญเนื้อทองแดง 39 บาท ให้เช่าบูชาอีกด้วย
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ศรีลังกา มีความสัมพันธ์พิเศษทางด้านพุทธศาสนานิกายเถรวาทเดียวกัน พระพุทธศาสนาหินยานลัทธิลังกาวงศ์ หรือสงฆ์สิงหลได้แผ่เข้ามาประดิษฐานอย่างเป็นปึกแผ่นบนผืนแผ่นดินไทย ณ เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อก่อนพุทธศักราช 1800 เผยแพร่ไปยังอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ตลอดถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของประเทศทั้ง 2 ได้พัฒนาอย่างมั่นคงแนบแน่นด้วยการแลกเปลี่ยนพระธรรมทูตระหว่างลังกาวงศ์ และสยามวงศ์
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ คือ การประดิษฐานพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ ในศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2296 เมื่อ 260 ปีมาแล้ว นั่นคือ การนำพระพุทธศาสนาแบบอย่างลังกาวงศ์กลับคืนประเทศศรีลังกาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นพระพุทธศาสนาในศรีลังกาได้เสื่อมสลายลง ภายใต้การแผ่อำนาจของนักล่าอาณานิคม พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกาในขณะนั้นได้ส่งราชทูตนำสาสน์เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่ออัญเชิญพระสงฆ์ไทยที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และอุปสมบทพระภิกษุชาวศรีลังกาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นำโดยพระอุบาลี และพระอริยมุนีเถระ จากวัดธรรมารามแห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งรู้จักกันในทางพุทธศาสนาว่า “สยามอุบาลีมหานิกาย”
ในวาระครบรอบ 250 ปี (พ.ศ.2545) แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนาสยามนิกายในศรีลังกา รัฐบาลประเทศศรีลังกา พร้อมด้วยคณะสงฆ์สยามนิกายแห่งศรีลังกาได้มอบเงิน จำนวน 3,440,000 บาท สนับสนุนการบูรณะหอไตรปิฎก หอระฆังวัดธรรมาราม และกรมศิลปากรสมทบเงิน 1,000,000 บาท ก่อสร้างเขื่อนหินป้องกันตลิ่งพังทลายแล้วเสร็จในปี 2546 การบูรณะหอไตร และหอระฆังวัดธรรมาราม มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาสถาปัตยกรรม วัสดุเดิมไว้ให้มากที่สุด และส่งเสริมแต่งส่วนที่ชำรุดให้สมบรูณ์มั่นคงแข็งแรง
ในวาระครบรอบ 260 ปี (พ.ศ.2556) แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนาสยามนิกายในศรีลังกาการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีที่วัดธรรมาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบกลางจัดสร้าง 10 ล้านบาท โดยปรับโครงสร้างอาคาร 3,000,000 บาท ปรับภูมิทัศน์ 2,000,000 บาทและนิทรรศการ 5,000,000 บาท ทั้งนี้ ศรีลังกาได้จำลองรูปพระอุบาลีมหาเถระแกะสลักด้วยไม้ ความสูง 180 เซนติเมตร ได้กระทำพิธีมอบให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมพระพุทธศาสนาแห่งเมืองแคนดี้ ปาเล คาเล โดย ฯพณฯ ทีมี เอกานายะกะ รัฐมนตรีประจำกระทรวงศิลปะ และวัฒนธรรม แห่งศรีลังกา เพื่อนำกลับมาประดิษฐานไว้ ณ วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาสยามวงศ์ในลังกาทวีป เป็นการจัดแสดงในอาคารแบ่งออกเป็น 7 ZONE แนวคิดหลักในการนำเสนอ “ธรรมพลี” ของพระอุบาลีมหาเถระ ความเสียสละ ความวิริยะ อุตสาหะ ผลงานการกอบกู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา