ตราด - ระดมทีมสัตวแพทย์รักษาโลมาฟันห่าง เผยผิวหนังไหม้เพราะแดดเผา มั่นใจพอมีโอกาสรอดชีวิต ระบุเป็นโลมาที่ไม่เคยพบในทะเลตราด แต่มีเฉพาะน้ำลึก
วันนี้ (13 พ.ย.) นายเกรียงศักดิ์ เผด็จภัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ตราด นำโลมาฟันห่าง ที่หายากมาทำการพักฟื้น และรักษาอาการบาดเจ็บตามร่างกาย หลังพลัดเข้ามาติดในป่าโกงกาง หาดลานทราย ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ตั้งแต่คืนวานนี้ (12 พ.ย.) ล่าสุด วันนี้ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ฝั่งตะวันออก(ระยอง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดยนายสัตวแพทย์วศิน จรัสวิมลใส นายสัตวแพทย์นภกานต์ สิงห์คำ โลมาโชว์พัทยา และศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาทำการรักษาอาการของโลมาฟันห่า
นายสัตวแพทย์วศิน ตรวจแล้วพบว่า ผิวหนังถูกแดดเผาจนพอง มีน้ำเหลือง และเลือดไหล มีอาการอ่อนเพลีย ว่ายน้ำไม่ได้ เมื่อปล่อยให้ว่ายน้ำเองจะเอียงแ ละจม ต้องใช้ผ้าใบรั้งไว้ไม่ให้จมน้ำ การหายใจสามารถกลั้นได้นานขึ้น แต่ยังไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า โลมาฟันห่างตัวนี้ได้รับมาจาก ต.แหลมกลัด จึงได้ประสานสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) มาทำการรักษา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เพราะโลมาฟันห่าง มีอาการบาดเจ็บมาก่อน จึงได้ขอให้ทีมสัตวแพทย์ทำการรักษาเต็มที่ โดยทีมงานมีประสบการณ์ช่วยชีวิตโลมามาแล้วหลายตัว แม้จะเสียชีวิตทั้งหมดก็ตาม
นายสัตวแพทย์นภกานต์ กล่าวว่า อาการโดยทั่วไปพบว่า ผิวหนังถูกแดดเผาจนเป็นแผลผุพอง สภาพเหมือนร่างกายมนุษย์ที่ถูกแดดเผา แต่ผิวหนังของโลมาจะมีชั้นไขมันที่ดูดความร้อนได้เร็ว ทำให้เกิดบาดแผลได้เร็ว และติดเชื้อ ยังว่ายน้ำไม่ได้ การหายใจดี สามารถกลั้นหายใจได้นานขึ้น แต่ยังกินอาหารไม่ได้ การรักษาตอนนี้จึงทำได้จากการนำวาสลีนทาภายนอก และให้กลูโคสเพื่อให้มีแรง ส่วนจะรักษาหายหรือไม่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ ซึ่งโลมาที่เข้ามาชายฝั่งมักจะมีอาการบาดเจ็บ หรือป่วยซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะรอดชีวิต
ขณะที่ น.ส.ณฐกฤตพรรณ พึ่งสำราญ ทีมสัตวแพทย์กล่าวว่า โลมาตัวนี้เป็นโลมาฟันห่างที่ไม่พบในทะเลด้าน จ.ตราด แต่จะอยู่ในน้ำลึกมากกว่า 50 เมตร และจะพบในทะเลภูเก็ตมากกว่า จึงเป็นการพบครั้งแรก ส่วนการรักษาจะเป็นไปตามอาการ โดยโลมาฟันห่างตัวนี้เป็นเพศเมีย ความยาว 235 เซนติเมตร หนักกว่า 200 กิโลกรัม เป็นตัวที่ 4 ที่พบว่ามีอาการบาดเจ็บในทะเลตราด และช่วยชีวิต แต่ทุกตัวไม่รอด เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บมาก
สำหรับโลมาฟันห่าง ตัวนี้มีชื่ออังกฤษ : Rough-toothed dolphin ชื่อวิทยาศาสตร์ : Steno bredanensis (Lessen, 1828) ลักษณะทั่วไป : รูปร่างค่อนข้างเรียวยาว จงอยปากยาว ลักษณะที่แตกต่างจากโลมาชนิดอื่นเด่นชัด คือ จากจงอยปากจะลาดโค้งขึ้นส่วนหัว โดยไม่มีรอยหยักระหว่างหัว (หน้าผาก) กับจงอยปากลำตัวสีเทา ด้านท้องสีจางเล็กน้อย มีแต้มด่างสีขาว ลักษณะเป็นดาวกระจายเป็นดวงๆ ตามลำตัวด้านข้าง และท้องบริเวณขอบปากล่างจะด่างขาว โตเต็มที่ยาว 2.2-2.4 เมตร ฟันซี่ใหญ่เรียงกันห่างๆ 20-27 คู่บนขากรรไกรแต่ละข้าง อาหารจะเป็นจำพวกปลา และหมึก แหล่งที่พบโลมาฟันห่างในทะเลเปิด ไม่ค่อยพบตามชายฝั่ง ในประเทศไทยพบที่ จ.นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสตูล