บุรีรัมย์ - เกษตรกรบุรีรัมย์แห่นำรถบรรทุกข้าวเปลือกเข้าคิวรอจำนำหน้าโรงสียาวเหยียดกว่า 2 กม. โวยต้องนอนรอข้ามคืนทำให้เสียค่ารถบรรทุกข้าวเพิ่มวันละ 200-300 บาท เหตุรัฐวางเงื่อนไขต้องจำนำหลังเก็บเกี่ยว 30 วัน ขณะเกษตรกรหลายอำเภอยังไม่ได้หนังสือรับรองต้องใช้บัตร ปชช.แทนและไม่ได้รับใบประทวน จี้รัฐเร่งดำเนินการหวั่นได้เงินล่าช้า
วันนี้ (12 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรจากหลายอำเภอที่จังหวัดบุรีรัมย์ แห่นำรถบรรทุกข้าวเปลือกมาจอดเข้าคิวรอเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2556/57 ที่โรงสีข้าวรุ่งเรือง ตั้งอยู่บ้านหัววัว ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่เช้ามืดมากกว่า 200 คัน ทำให้ถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย มีรถบรรทุกข้าวจอดติดยาวเหยียดกว่า 2 กิโลเมตร จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาคอยอำนวยความสะดวกตลอดทั้งวัน ทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุด้วย เนื่องจากถนนสายดังกล่าวเป็นถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่างอำเภอ
ส่วนสาเหตุที่เกษตรกรต้องนำรถมาจอดเข้าคิวรอเข้าร่วมโครงการฯ เป็นแถวยาวเหยียด เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกัน อีกทั้งปีนี้รัฐบาลได้กำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรจำนำหลังเก็บเกี่ยวภายใน 30 วัน ทำให้เกษตรกรต่างแห่นำข้าวมาจำนำพร้อมกัน เพราะเกรงจะเลยกำหนดเวลาที่รัฐกำหนด
นอกจากนี้ เกษตรกรหลายพื้นที่อำเภอยังไม่ได้รับหนังสือรับรองจากทางสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ จึงต้องใช้บัตรประชาชนยื่นแสดงแทน ทำให้ทางโรงสีที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังไม่ออกใบประทวนให้ เพียงเขียนใบชั่งน้ำหนักเป็นหลักฐานที่เกษตรกรนำข้าวมาจำนำก่อนเท่านั้น จนกว่าเกษตรกรจะนำหนังสือรับรองมายื่นตามระเบียบขั้นตอน
ด้านนางมนัสนันท์ เก้ารัมย์ อายุ 39 ปี เกษตรกรบ้านม่วงน้อย ต.สองห้อง กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการออกหนังสือรับรองให้เกษตรกรโดยเร่งด่วนด้วย เพราะเกรงจะได้รับเงินล่าช้า เนื่องจากหลายคนจำเป็นต้องนำเงินไปจ่ายค่าจ้างในการเก็บเกี่ยวข้าว ค่าปุ๋ย และชำระหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุนทำนา พร้อมทั้งร้องขอให้พิจารณาปลดล็อกเงื่อนไข 30 วัน เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ต้องนำรถบรรทุกข้าวมาเข้าคิวรอนาน ซึ่งบางรายต้องนอนรอข้ามคืน ทำให้ต้องเสียค่าจ้างเช่าเหมารถบรรทุกข้าวอีกวันละ 200-300 บาทด้วย
ด้านนางจำปี โคนประโคน อายุ 63 ปี เกษตรกรบ้านใสงาม ต.สำโรง อ.พลับพลาชัย กล่าวว่า จากขั้นตอนที่ยุ่งยากในโครงการฯ และความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองให้เกษตรกรไม่ทัน ทำให้หลายรายต้องตัดสินใจขายในราคาถูกเพียงกิโลกรัมละ 13-14 บาท แทนการเข้าร่วมโครงการฯ แม้จะได้ราคาสูงกว่าถึงกิโลกรัมละ 20 บาทก็ตาม เพราะจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน