มุกดาหาร-นรข.มุกดาหาร สนธิกำลัง กอ.รมน.มุกดาหาร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ไล่ล่ารถขนไม้พะยูง ได้ผู้ต้องหา 1 คน ยึดรถกระบะ 2 คัน พร้อมของกลาง 32 ท่อน/เหลี่ยม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
วันนี้ (12 พ.ย.) พล.ร.ต.อารักษ์ แก้วเอี่ยม ผู้บังคับการหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง ได้รับรายงานจากสายว่า จะมีขบวนการลักลอบขนไม้พะยูงส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้เส้นทางอำเภอคำชะอี-มุกดาหาร จึงสั่งการให้ น.ต.กรภัทร ศรีพิพัฒน์ หัวหน้าสถานีเรือมุกดาหาร ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดักซุ่มตามเส้นทางดังกล่าว
กระทั่งพบรถกระบะโตโยต้า สีบรอนซ์ทอง หมายเลขทะเบียน บย 6019 อุดรธานี และกระบะมิตชูบิชิ ไทรทัน สีบรอนซ์เงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน วิ่งมาด้วยความเร็วสูง จึงออกมาให้สัญญาณหยุด แต่กลับเร่งเครื่องยนต์เพื่อจะหลบหนี จึงได้ขับรถไล่ติดตามจนตามทันบริเวณบ้านกุดแข้-บ้านม่วงหัก ต.โพนทราย อ.เมือง
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบชาย 1 คน ที่ขับรถกระบะมิตชูบิชิ ทราบชื่อ นายอดิศักดิ์ วังคะฮาต บ้านเลขที่ 107/14 บ้านคำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ส่วนรถกระบะโตโยต้า คนขับได้เปิดประตูรถแล้ววิ่งหลบหนีเข้าป่า
ตรวจสอบหลังกระบะรถมิตชูบิชิ พบไม้พะยูง 20 ท่อน/เหลี่ยม ส่วนรถกระบะโตโยต้า พบไม้พะยูงที่หลังกระบะ จำนวน 12 ท่อน คิดมูลค่าไม้พะยูงทั้งหมดประมาณ 1 ล้านบาท ไม้พะยูงเหล่านี้น่าจะถูกลักลอบตัดมาจากเขตภูสีฐาน เพื่อนำส่งให้แก่นายทุนริมฝั่งแม่น้ำโขง และส่งไปต่อประเทศเพื่อนบ้าน
จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 70, 69, 78 และ 80 ร่วมกันมีไม้หวงห้าม (ไม้พะยูง) ไว้ในครอบครองเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร จากนั้นควบคุมตัวผู้ต้องหา พร้อมของกลางรถยนต์ 2 คัน และไม้พะยูง ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร เพื่อติดตามเจ้าของรถที่หลบหนีมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ร.ต.อารักษ์ แก้วเอี่ยม ผู้บังคับการหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง กล่าวว่า การจับกุมของ นรข.ถือเป็นด่านสุดท้ายก่อนที่จะขนออกนอกประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าขั้นตอนมาจากต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการจับกุม ถ้าหลุดจากเจ้าหน้าที่ นรข.ก็จะส่งไปต่างประเทศสำเร็จ ไม้พะยูงในปัจจุบันนี้เท่าที่ทราบมาในช่วงหลังตัดเป็นต้นแล้วมาแปรรูปในพื้นที่ก่อนที่จะส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ คาดว่าแหล่งลักลอบตัดโค่นน่าจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ นำออกมาจากอุทยานแห่งชาติ ส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศชาติมาก เป็นทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในป่าเป็นแหล่งต้นน้ำที่เราต้องใช้ ถ้าถูกตัดไปมากทำให้เราสูญเสียป่า สูญเสียต้นน้ำ ในอนาคตข้างหน้าจะแห้งแล้งขาดน้ำ
“ซึ่งจริงๆ แล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันป้องกันตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง เพื่อจะได้รักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้แก่ลูกหลานในอนาคตต่อไป”