ระยอง - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ฤกษ์ประกาศเปิดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด 1 พ.ย. หลังพบค่าน้ำทะเลทุกหาดรอบเกาะเสม็ดกลับคืนสู่สภาวะปกติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการนันทนาการ
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่หาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หมู่ 4 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายรังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการจัดการควบคุมสภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ดร.ปิ่นศักดิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด และนายบุญเชิด สุวรรณทิพย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมประชุม และรับฟังบรรยายสรุปการแก้ปัญหากรณีท่อส่งน้ำมันดิบไหลรั่วทางทะเล ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว โดยเจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องตรวจวัดค่า VOCs ให้สื่อมวลชนที่เดินทางมาร่วมทำข่าวในครั้งนี้ดูด้วย
ดร.ธีรภัทร กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออ่าวพร้าว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด และได้ปิดพื้นที่อ่าวพร้าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินสถานการณ์ แก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน เข้าดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน
นายรังสรรค์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมควบคุมมลพิษ ถึงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล และค่ามาตรฐานต่างๆ เช่น ค่าสารปรอท ค่าโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย ค่าโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน บริเวณรอบเกาะเสม็ด 12 หาด ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน พบว่า ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา ค่าน้ำทะเลที่หาดอ่าวพร้าว และทุกหาดรอบเกาะเสม็ดกลับคืนสู่สภาวะปกติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการนันทนาการทั้งหมดแล้ว มีค่า TPH ต่ำกว่า 1 ไมโครกรัมต่อลิตร และมีค่าปรอทต่ำกว่า 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร เป็นต้น
บริเวณชายหาดหินตลอดแนวชายหาด สัตว์ทะเล บริเวณอ่าวพร้าวอยู่ในสภาพดี มีความสวยงาม ปะการังมีการฟื้นตัวดีขึ้น พบหอยเม่นทะเลจิ๋วใต้ พบหอย ปูลม ปลาตัวเล็กกลับมาอาศัยบริเวณชายหาด หาดหิน ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติได้กลับคืนสู่สภาพปกติ และในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูอ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด ให้กลับมาสวยงาม
ด้าน ดร.ปิ่นศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินสถานการณ์ แก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน กรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม และกำหนดกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเพื่อจัดทำแผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน ตามแนวทางในคู่มือการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ของกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ.2544 โดยอ้างอิงข้อมูลวิชาการ และการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากกรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พร้อมนำเสนอแผนงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกัน และขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงาน โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ต่อไป การฟื้นฟูผลกระทบต่อระบบนิเวศ ได้แก่ โครงการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ปะการัง และย้ายปลูกเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในพื้นที่เกาะเสม็ด การฟื้นฟูผลกระทบต่อการบริการของระบบนิเวศ ได้แก่ โครงการจัดวางปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ และฟื้นฟูสัตว์ทะเลในพื้นที่เกาะเสม็ด และอ่าวระยอง การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเกาะเสม็ด เช่น การจัดการขยะ การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย การออกแบบและควบคุมปริมาณสิ่งก่อสร้างให้มีความเหมาะสม
โครงการติดตั้งทุ่น และซ่อมแซมบำรุงรักษาทุ่นในแนวปะการัง และทุ่นแนวกรอบเล่นน้ำในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะเสม็ด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีแผนงานการติดตาม และประเมินผลกระทบของน้ำมันต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านสมุทรศาสตร์ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล หาดหิน/หาดทราย ป่าชายเลน สัตว์ทะเลหายาก และมลพิษ ที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 ปี
นายสุเมธ กล่าววว่า เมื่อผลการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมของอ่าวพร้าว และทุกอ่าวรอบเกาะเสม็ดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจนเป็นที่มั่นใจแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเห็นสมควรที่จะเปิดพื้นที่หาดอ่าวพร้าว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป เพื่อให้เกาะเสม็ดกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ