ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเปิดตัว “ลูกกกวางผา-ลูกเลียงผา” สมาชิกล่าสุด เผยแป็นลูสัตว์ที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ผอ.ไนท์ซาฟารีชี้ถือเป็นความสำเร็จเพราะถือเป็นสัตว์หายาก-ใกล้สูญพันธุ์ทั้งคู่ ระบุอนาคตเล็งนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัวลูกกวางผา และลูกเลียงผา สมาชิกใหม่ พร้อมทั้งนำคณะสื่อมวลชนเข้าชมลุกสัตว์ทั้งสองชนิดที่คอกเลี้ยงสัตว์ โดยลูกกวางผาและลูกเลียงผา เกิดจากการเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติในพื้นที่เฉพาะภายในส่วนจัดแสดงที่สัตว์ทั้งสองชนิดอาศัยอยู่ โดยลูกกวางผา 1 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม เป็นลูกจากแม่กวางผา ชื่อแสงดาว และพ่อกวางผาชื่อศิลป์ ถือเป็นลูกกกวางผาตัวที่ 20 ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสามารถเพาะพันธุ์ขึ้นได้ ทำให้ปัจจุบันมีกวางผารวม 26 ตัว
ส่วนลูกเลียงผา 2 ตัว เกิดจากพ่อเลียงผาตัวเดียวกัน ชื่อตองอู ตัวแรกเพศผู้ เกิดจากแม่เลียงผาชื่อปีใหม่ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม อีกตัวเป็นเพศเมีย เกิดจากแม่เลียงผาชื่อตองหก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม โดยทั้งสองตัวถือเป็นลูกเลียงผาตัวที่ 5 และ 6 ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสามารถเพาะพันธุ์ได้เอง ทำให้ปัจจุบันมีเลียงผารวม 8 ตัว
ดร.ศราวุฒิกล่าวว่า การได้ลูกกวางผา และเลียงผาเป็นสมาชิกใหม่ ถือเป็นความสำเร็จในการขยายพันธุ์สัตว์ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยเฉพาะสัตว์ทั้งสองชนิดซึ่งถือเป็นสัตว์ป่าสงวนหายากอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติลดลง และถูกล่าตามความเชื่อที่ว่าน้ำมันจากสัตว์ทั้งสองชนิดมีสรรพคุณด้านการรักษาโรค
โดยในปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมอบลูกกวางผา 2 ตัวให้ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ ส่วนในอนาคตเตรียมที่จะขยายส่วนจัดแสดงของสัตว์ทั้งสองชนิดเพื่อรองรับปริมาณสัตว์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งให้นักวิชาการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำสัตว์ทั้งสองชนิด โดยเฉพาะกวางผาปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ด้าน ดร.สมเกียรติ ทองมี จากหน่วยอนุรักษ์และวิจัย เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการเพาะขยายพันธุ์กวางผา กล่าวว่า ปัจจุบันกวางผาที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงมีอัตราการรอด 100% โดยเป็นกวางผาเพศผู้ 9 ตัว เพศเมีย 11 ตัว ทั้งนี้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์เพาะเลี้ยงกวางผาที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งมีแผนงานที่จะนำกวางผากลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประชากรกวางผาในระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม การนำกวางผากลับสู่ธรรมชาติ ต้องศึกษาวิจัยต่อไปว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ และพื้นที่ใดมีความเหมาะสม กวางผาสามารถปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยได้