อุบลราชธานี - จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งมีชายแดนติดต่อกับกัมพูชา เตรียมพร้อมรับสถานการณ์หลังศาลโลกนัดพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร 11 พ.ย.นี้ สำรวจหลุมหลบภัยรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และพร้อมอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงกว่า 40 หมู่บ้านเข้าอยู่ในศูนย์อพยพทั้ง 29 แห่งได้ทันทีหากเกิดเหตุการณ์รุนแรง
วันนี้ (30 ต.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมเตรียมรับสถานการณ์กรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนดอ่านคำพิพากษาตัดสินคดีข้อพิพาทไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหารในวันที่ 11 พฤศจิกายน ศกนี้
ซึ่งมีหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 2 มณฑลทหารบกที่ 22 กรมทหารราบที่ 6 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เจ้าหน้าที่จากพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา 6 อำเภอ คือ อำเภอน้ำยืน น้ำขุ่น ทุ่งศรีอุดม เดชอุดม นาจะหลวย และอำเภอบุณฑริกเข้าประชุมวางมาตรการป้องกันการเข้าใจผิดระหว่างประชาชนสองประเทศ
โดยให้หน่วยงานไปทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคำตัดสินของศาลโลก พร้อมจัดวางกำลังป้องกันตามหมู่บ้านชายแดนและคอยช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการสอดส่องดูแลบุคคลต้องสงสัย ส่วนตามจุดผ่านแดนระหว่างประเทศให้อำนวยความสะดวกการเดินทางผ่านไปมาของประชาชนทั้งสองฝ่ายต่อไป
ขณะเดียวกันให้มีการสำรวจดูความมั่นคงแข็งแรงของหลุมหลบภัย โดยยังไม่ต้องมีการซ้อมเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดระหว่างกัน และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีการประสานงานกับฝ่ายกัมพูชาถึงสถานการณ์ต่างๆ เป็นระยะเพื่อสร้างความเข้าใจกันด้วย
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี หากเกิดเหตุการณ์ปะทะกันขึ้นมีศูนย์ใช้รองรับผู้อพยพกระจายอยู่ในพื้นที่ 6 อำเภอ จำนวน 29 ศูนย์ มีหลุมใช้หลบภัยจำนวน 100 หลุม โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยในอำเภอน้ำขุ่น จำนวน 4 หมู่บ้าน 1 ตำบล ประชากรประมาณ 2,500 คน ส่วนอำเภอน้ำยืนมีพื้นที่เสี่ยง 39 หมู่บ้าน 3 ตำบล ประชากรเกือบ 32,000 คน